ระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและระบบแตกแอมโมเนียรุ่นล่าสุดจาก AFC Energy ได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งในโครงการออกแบบเรือ ZeroCoaster

โครงการนี้ปูทางสู่การใช้แอมโมเนียสีเขียวเพื่อลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการเดินเรือทั่วโลก

AFC Energy ผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฮโดรเจน มีความยินดีในการประกาศให้ทราบถึงความสำเร็จครั้งสำคัญที่มีเป้าหมายเพื่อปลดล็อกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากแอมโมเนียและเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์ที่มีความหนาแน่นของพลังงานสูง ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการเดินเรือทั่วโลก

ทั้งนี้ DNV ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ได้ให้สถานะ "Approval in Principle" (หรือ "AiP") แก่เรือขนส่งสินค้าเชื้อเพลิงแอมโมเนีย ZeroCoaster โดยยืนยันผลการประเมินที่ดำเนินการอย่างเป็นอิสระว่า เรือลำดังกล่าวมีการออกแบบที่เป็นไปได้จริง และไม่มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการนำการออกแบบดังกล่าวไปใช้งานในเชิงพาณิชย์

AFC Energy เชื่อมั่นว่า การที่เซลล์เชื้อเพลิงแบบอัลคาไลน์พร้อมด้วยเครื่องแตกแอมโมเนีย (Ammonia cracker) และระบบกักเก็บเชื้อเพลิงได้รับการรับรองประเภทนี้เป็นครั้งแรกนั้น จะเปิดโอกาสไปสู่การใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนียสีเขียว (Green ammonia) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในตลาดการขนส่งทางทะเล

ไฮไลท์

โครงการ ZeroCoaster Consortium นำโดย Vard Engineering Brevik AS ร่วมด้วย ABB, Trosvik Maritime, SINTEF Ocean และ HK Shipping โดยมีรัฐบาลประเทศนอร์เวย์เป็นผู้สนับสนุน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบเรือบรรทุกสินค้าทางทะเลรุ่นใหม่ เพื่อช่วยเร่งการเปลี่ยนไปใช้โซลูชันการขนส่งสินค้าทางเรือที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2573 สำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเล คาดว่าเฉพาะนอร์เวย์ประเทศเดียวจะต้องมีเรือที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือมีการปล่อยในระดับต่ำให้ได้ 1,100 ลำ รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าเทกอง 450 ลำตามที่ ZeroCoaster วาดภาพไว้AFC Energy เริ่มต้นทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่าง VARD, ABB และ ZeroCoaster เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อออกแบบและสร้างระบบขับเคลื่อนเรือบรรทุกสินค้าเทกองแบบแยกส่วนที่ใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนียสีเขียวเทคโนโลยีที่ได้รับเลือกให้ใช้กับระบบกำลังไฟฟ้าขนาด 1.2 เมกะวัตต์ของเรือดังกล่าว ได้แก่แพลตฟอร์มสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ "S" Series รุ่นใหม่ของบริษัท AFC Energy ซึ่งคาดว่าจะใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงแบบอัลคาไลน์ขนาด 600 กิโลวัตต์จำนวน 2 ชุด และเทคโนโลยีแตกแอมโมเนียในตู้คอนเทนเนอร์แบบแยกส่วนขนาด 40 ฟุต VARD จะเริ่มกระบวนการเจรจาเชิงพาณิชย์กับลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะซื้อเรือเชื้อเพลิงแอมโมเนียรุ่นใหม่ ซึ่งใช้เซลล์เชื้อเพลิงสำหรับเรือเดินสมุทรและโมดูลการแตกแอมโมเนียจาก AFC Energy

Andreas Buskop ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวิศวกรรมที่ Vard Engineering Brevik AS กล่าวว่า "VARD แสดงความเป็นผู้นำด้านการออกแบบและนวัตกรรมสำหรับเรือเดินสมุทรมาอย่างยาวนาน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนไปใช้เรือที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้เร็วขี้น เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า เชื้อเพลิงแอมโมเนียสีเขียวนั้นจะมีบทบาทในการสนับสนุนเป้าหมาย "Go green" ของอุตสาหกรรมการเดินเรือ การทำงานด้านเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์ร่วมกับผู้นำในอุตสาหกรรมอย่าง AFC Energy ทำให้เรายินดีที่ได้รับการรับรองสถานะ AiP จาก DNV ซึ่งตอกย้ำถึงความเป็นเจ้าแรกของโลกในด้านการออกแบบเรือที่ใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนียและการใช้ระบบแตกแอมโมเนีย เรามุ่งหวังที่จะได้ทำงานร่วมกับ AFC Energy ในการออกแบบเรือที่ใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนียให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้"

Adam Bond ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AFC Energy กล่าวว่า "การที่อุตสาหกรรมการเดินเรือหันมาใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนียสีเขียวซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนกันมากขึ้นนั้น เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงแบบอัลคาไลน์ที่มีความหนาแน่นทางพลังงานสูงของ AFC Energy เราได้ใช้เวลาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาในการวางคอนเซ็ปต์การออกแบบระบบเครื่องยนต์ของเรือ โดยนำเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงและระบบแตกแอมโมเนียแบบครบวงจรสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่มาใช้ เรายินดีที่ได้รับเชิญให้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ออกแบบและต่อเรือชั้นนำของโลกอย่าง VARD เพื่อตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างระบบขับเคลื่อนที่ปลอดภัยและตรงตามข้อกำหนด รวมถึงระบบเสริมของเรือขนส่งสินค้าอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ZeroCoaster การได้รับสถานะ AiP จาก DNV จึงเป็นการยืนยันและรับรองบทบาทของเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้นักเดินเรือบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดได้"

DNV องค์กรชั้นนำของโลกที่จัดกลุ่มและรับรองมาตรฐานในอุตสาหกรรมการเดินเรือ ได้ประเมินการออกแบบและการนำโมดูลเซลล์เชื้อเพลิงแบบอัลคาไลน์มาใช้กับระบบแตกแอมโมเนียที่ติดตั้งภายในเรือ โดยสรุปว่า การออกแบบดังกล่าวสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ

การได้รับสถานะ AiP ดังกล่าวยังเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะปลดล็อกโอกาสมากมาย ในการนำแอมโมเนียสีเขียวมาใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมการเดินเรือ ควบคู่ไปกับการใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงที่มีความหนาแน่นของพลังงานสูงและโมดูลการแตกแอมโมเนียของ AFC Energy มาตรฐาน AiP จึงเป็นการยืนยันว่า การออกแบบดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นไปได้ และไม่มีอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดในการผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นจริง

โครงการสร้างเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ZeroCoaster ที่ร่วมมือกับบริษัทด้านการออกแบบและต่อเรือรายใหญ่ของโลกอย่าง VARD มีเป้าหมายเพื่อประเมินและนำเสนอโซลูชันการออกแบบเรือที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยใช้ระบบพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับเรือเดินสมุทร รวมถึงแอมโมเนียสีเขียว (Green Ammonia)

โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยของนอร์เวย์ โดยขณะนี้โครงการกำลังพิจารณานำระบบจัดเก็บพลังงาน การจัดการ และแตกแอมโมเนียสีเขียว เพื่อสร้างเป็นพลังงานโฮโดรเจนซึ่งจะนำไปใช้ในระบบเซลล์เชื้อเพลิงแบบอัลคาไลน์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยมีระบบขับเคลื่อนและระบบสนับสนุนจาก AFC Energy เข้ามาช่วยเสริม

ทั้งนี้ นอร์เวย์ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 โดยคาดว่า เฉพาะนอร์เวย์เพียงแห่งเดียวนั้นจะต้องมีเรือที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (หรือมีอัตราการปล่อยในปริมาณต่ำ) อยู่ที่ 1,100 ลำ รวมถึงเรือขนส่งสินค้าเทกอง 450 ลำ อย่าง ZeroCoaster เป็นต้น

แอมโมเนียสีเขียวได้รับการกล่าวถึงในฐานะเชื้อเพลิงที่มีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการเดินเรือทั่วโลก จากข้อมูลคาดการณ์ระบุว่า เชื้อเพลิงประเภทนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรดาเรือเดินสมุทรได้ถึง 25-30%

www.afcenergy.com

www.vard.com