องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) ได้จัดงานเสวนา เรื่อง “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับภาคธุรกิจไทย TBCSD ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Model” ขึ้น ภายใต้งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” (Thailand Research Expo 2021) ณ ห้อง Lotus Suite 9 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยและประชาชนผู้ที่สนใจ ได้เข้าใจถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยในการลดการใช้ทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนไทยในปัจจุบันว่ามีการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรม อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงได้เข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศตามหลักการ BCG Economy Model
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG Model และการมุ่งไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emission หรือ Carbon Neutrality ในอนาคต นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สากลและความยั่งยืนในอนาคต
โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคธุรกิจนำแนวคิดระบบ BCG มาปรับประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และการดำเนินกิจการของประเทศไทยหลัง COP26 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายที่เร่งรัดขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผมได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน BCG Model ดังกล่าวโดยการทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้ BCG Model บรรลุผลตามที่ตั้งไว้ อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ดังนั้น องค์กรภาคธุรกิจไทยจึงควรดำเนินการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อนำข้อมูลที่ตรงกับบริบทขององค์กรมาใช้ทบทวนการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมองค์กรให้ก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ หากองค์กรธุรกิจใดสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้เข้าสู่ BCG Economy Model ได้นั้น ก็จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีให้แก่องค์กรภาคธุรกิจไทยอื่น ๆ สามารถนำรูปแบบการดำเนินงานที่ดีไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรธุรกิจนั้น ๆ เพราะระบบการขับเคลื่อนธุรกิจควรจะต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อความยั่งยืนในอนาคตนั้นเอง”
ช่วงของการเสวนาเรื่อง “Circular Economy : เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างสมดุล มุ่งสู่ความยั่งยืน” ได้มีการนำเสนอข้อมูลในหัวข้อย่อย 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่ 1) พลาสติกครบวงจร: รวบรวม จัดเก็บ แยก หมุนเวียน ใช้ประโยชน์” นำเสนอข้อมูลโดย
นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก กล่าวถึง “ข้อมูลภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติก สถานการณ์ขยะพลาสติกของประเทศไทย ประเด็นปัญหาของพลาสติกในปัจจุบันที่เป็นข้อจำกัดในการจัดการพลาสติกให้กลับเข้าสู่ระบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ข้อมูลเปรียบเทียบแนวทางการบริหารจัดการพลาสติกหลังการใช้งานของประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดี เช่น ประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศสิงคโปร์ และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึง เสนอแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นไปได้ในประเทศไทย อีกด้วย”
ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย Circular Economy บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “GC ให้ความสำคัญกับการปรับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด มีการหมุนเวียนทรัพยากรที่ไปใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ทิ้งให้เสียเปล่าในทุกกระบวนการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ในมุมของผู้ผลิต พลาสติกที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันช่วยทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น และช่วยป้องกันและยับยั้งการระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ การปรับใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ และสามารถช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
GC ได้จัดทำ GC’s Circular Economy Framework เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตและขยะที่เกิดจากพลาสติกใช้แล้ว ควบคู่กับปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ผ่าน 3 แนวทางคือ Smart Operating, Responsible Caring, และ Loop Connecting นอกจากนี้ GC ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กร Net Zero ยกระดับการปรับใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างยั่งยืน”
นายกฤษดา เรืองโชติวิทย์ Circular Economy Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ประเทศไทยกำหนดให้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทยและในภูมิภาค ASEAN ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง และวัสดุทางการแพทย์ เราเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy เป็นรายแรก ๆ ของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น Net Zero ภายในปี 2593 ผ่าน 3 กลยุทธ์ คือ 1. สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดการจัดการขยะ สามารถนำวัสดุกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด 2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากวัสดุตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์จนถึงกระบวนการผลิต 3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนา Business Model ที่ช่วยส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการด้าน Circular Economy สนับสนุนให้เราช่วยตอบโจทย์และเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ UN Sustainable Development Goals อาทิ SDG12: Responsible Consumption and Production, SDG13: Climate Action, SDG17: Partnerships for the Goals”
นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ในฐานะผู้นำด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดเก็บพลาสติกใช้แล้ว พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สามารถนำพลาสติกใช้แล้วมูลค่าต่ำกลับมารีไซเคิลและใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างสูงสุด ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ที่ต้องการกำจัดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดได้จริงและอย่างสมบูรณ์นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และผู้บริโภค ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย BCG ตามนโยบายของภาครัฐ”
และช่วงประเด็นที่ 2) เกษตรและอาหาร: กลไกบริหารจัดการ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน นำเสนอข้อมูลโดย
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ กรรมการปฏิคมหอการค้าไทย และ กรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านเครือข่ายสมาชิกของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกือบ 115,000 ราย จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้านการค้าและบริการ ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการดำเนินงานในปีนี้ จะสร้างโมเดลต้นแบบใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ จังหวัดสมุทรสงคราม (อัมพวา) จังหวัดระยอง และกรุงเทพฯ จากนั้นจะถอดบทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบไปขยายผลในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก่อนขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะมีระบบการเก็บข้อมูล การทำตัวชี้วัด การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเราเชื่อว่าความร่วมมือกันของสมาชิกในเครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ และการลงมือทำจริง จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และขยายผลในวงกว้าง เพื่อตอบทั้งโจทย์ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป”
นายศรชัย กุสันใจ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง “ข้อมูลการบริหารจัดการ เพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดเก็บและการจัดส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ สามารถลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลงได้ 20% จากปี 2561 และยังมีเป้าหมายที่จะลดลงให้ต่ำกว่า 50% ให้ได้ภายในปี 2568 อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบหลายชนิดจากภาคการเกษตร อาทิ แป้งมันสำปะหลัง เมล็ดกาแฟ นมวัว ฯลฯ ดังนั้น การควบคุมดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยนำหลักการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ การดูแลเก็บรักษาวัตถุดิบ การควบคุมใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าและเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ไปจนถึงการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพดีที่สุด นอกจากนี้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร เช่น การบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ การประมาณการใช้วัตถุดิบตามความจำเป็น และการวางแผนการผลิตให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ในตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดของเสียจากการหมดอายุของผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตเกิดของเสียน้อยที่สุด ตลอดจนการควบคุม ดูแลและปรับปรุงการจัดส่งและการกระจายสินค้าเพื่อลดการชำรุดเสียหายของผลิตภัณฑ์จนเกิดเป็นของเสียอีกด้วย”
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจาก UN Environment Programme (UNEP) และอาจารย์ด้านการพัฒนายั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ข้อสังเกตจากรายงานล่าสุดของ UNEP เรื่อง “การใช้เทคโนโลยีสีเขียวและดิจิทัล (Green and Digital Technology) ในการลดขยะอาหารในภาคครัวเรือน”
- ที่มาของขยะอาหารภาคครัวเรือนมีความซับซ้อน มาจากหลายปัจจัยที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล (Individual Factors) เช่น ทัศนคติต่ออาหาร ความตื่นตัว ความสามารถในการปรับตัว หรือระดับระบบ (System-Level Factors) เช่น ระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้การศึกษาพฤติกรรมและการเก็บข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการออกแบบนโยบาย
- ปัจจุบันข้อมูลด้านขยะอาหารยังไม่เพียงพอ (Data Gap) เนื่องจากวิธีการเก็บข้อมูลยังเป็นปัญหา ยังขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทำให้การออกแบบนโยบายมีข้อจำกัด
- ความเข้าใจต่อการจัดการขยะอาหารยังเน้นไปที่การกำจัด (Disposal) ซึ่งเป็นมาตรการปลายน้ำที่เป็นลำดับชั้นสุดท้ายใน “Food Waste Hierarchy” โดยต้องมีการส่งเสริมมาตรการป้องกัน (Prevention) หรือมาตรการต้นน้ำมากกว่านี้ผ่านการออกนโยบายหรือการให้ข้อมูลประชาชน
- เทคโนโลยีสำหรับการลดขยะอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1) “สีเขียว” เช่น การกักเก็บอาหาร 2) “ดิจิทัล” เช่น แอปพลิเคชันแชร์อาหารเหลือ และ 3) “IOT” เช่น บรรจุภัณฑ์และการติดฉลากแบบสมาร์ท
- ต้องพิจารณาประเด็นนี้มากกว่าแค่มิติ “ขยะอาหาร” (Food Waste) แต่เป็น “ของเสียในห่วงโซ่อุปทานอาหาร” (Waste in Food Supply Chain) ซึ่งนอกเหนือจากขยะอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงมลพิษ (CO2, SO2, PM) หรือขยะจากบรรจุภัณฑ์ (พลาสติก โฟม ไมโครพลาสติก) ที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนต่างๆในห่วงโซ่อุปทานอาหาร เช่น การขนส่ง การกักเก็บและแช่เย็น และการปรุงอาหาร
- การใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอต่อการแก้ปัญหานี้ แต่เทคโนโลยีต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่มีความครอบคลุมและสามารถเชื่อมปัจจัยต่าง ๆ เช่น นโยบายและกฎเกณฑ์ มาตรการด้านภาษี การร่วมมือแบบสมัครใจ การให้ข้อมูล และอื่น ๆ โดยจะต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก”
นางสาวเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและผู้ช่วยเลขาเครือข่ายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Thai SCP Network) กล่าวว่า “ปัญหาขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเมือง ซึ่งเป็นสังคมการบริโภคมากกว่าการผลิต มีพื้นที่น้อย มีความซับซ้อนของสังคมและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการกำจัดขยะอาหาร จากการศึกษาพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายและแผนการลดขยะอาหารที่ชัดเจน ใช้มาตรการจูงใจและควบคุมให้เกิดการลดและคัดแยกขยะอาหารที่ต้นทาง เตรียมการและทดลองใช้มาตรการควบคุมการทิ้งขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ อาทิ ตลาด ศูนย์อาหาร อาคารชุด ซูเปอร์มาเกต รวมทั้ง ระดมความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตอาหาร จัดจำหน่ายสินค้าอาหาร และให้บริการที่พักและจัดเลี้ยง ในการลดขยะอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม และเมืองใหญ่ต่าง ๆ”
โดยมีนางสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ พิธีกรผู้ดำเนินรายการ Smart Energy ช่องไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา การเสวนาในครั้งนี้วิทยากรแต่ละท่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติต่าง ๆ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการขับเคลื่อน BCG Model อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสมาชิกของ TBCSD องค์กรธุรกิจอื่น ๆ หน่วยงานของรัฐ นักเรียน นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป ที่เข้าร่วมงานเสวนาฯ