กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จัดกิจกรรมการนำเสนอและตัดสินผลงานรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีปี 2564 ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิดFOOD FORWARD ยกระดับอาหารพื้นถิ่นไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมฉายรังสี” เพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารฉายรังสีประจำปี โดยจัดให้มีการนำเสนอผลงาน ประกาศผลผู้ชนะ รวมถึงการมอบรางวัลในรูปแบบออนไลน์ และถ่ายทอดสดกิจกรรมทาง Facebook live ผ่านเฟซบุ๊คเพจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ www.facebook.com/thai.nuclear

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีปี 2564 เปิดสนามประลองให้คนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการอาหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสสร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหารฉายรังสีใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่นของไทย ผ่านการนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการฉายรังสีมาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การลดปริมาณจุลินทรีย์ในอาหารที่ก่อให้เกิดโรค เป็นต้น โดยโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ที่ส่งผลงานจากทั่วประเทศเข้าร่วมประกวดกว่า 40 ผลงาน

“โครงการนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป นำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นไทยใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งทาง สทน. เองมีความคาดหวังว่า ประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์อาหารฉายรังสี ที่เกิดจากแนวคิดริเริ่มของโครงการนี้ออกวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในท้องตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจและการยอมรับในอาหารฉายรังสีอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ กล่าว   

ทั้งนี้ โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีปี 2564 ได้เริ่มดำเนินการกิจกรรมของโครงการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดรับสมัครและส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกจนเหลือผลงานประเภทละ 10 ทีม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกได้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารฉายรังสี เพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในรอบชิงชนะเลิศ จนได้ผู้ชนะในแต่ละประเภทรางวัล รวมมูลค่ากว่า 170,000 บาท ดังนี้

ประเภทอุดมศึกษา

  • รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีม ไม่เป็นไรไตแข็งแรง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
    ผลงาน ปลาเค็มฉุยฉาย
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีม ดิบแต่ไม่ die มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ผลงาน Find my จ่อม
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีม Neo Tofu Technology มหาวิทยาลัยมหิดล
    ผลงาน เต้าหู้ดำฉายรังสีซอสแจ่วพร้อมบริโภค
  • รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลละ 6,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีมซุปเปอร์จ่อม จ่อมไบโอ มหาวิทยาราชภัฏนครราชสีมา
       ผลงาน Shrimp Jom
    2. ทีม Dare to do  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
       ผลงาน Fa Ju Wa ตูปะซูตง
  • รางวัล Popular vote ได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท ได้แก่
    ทีม บักนัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ผลงาน เค็มบักนัดฉายรังสี
  •  

    ประเภทประชาชนทั่วไป

  • รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีม ต่าพอเฌอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ผลงาน ผงปรุงรสต่าพอเฌอ

  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีม Healthy Food สุขภาพดีด้วยอาหารฉายรังสี จังหวัดกรุงเทพมหานคร
    ผลงาน ลูกชิ้นปลาดุก Keto Friendly สูตรโซเดียมต่ำ
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่
    ทีม ซัมบาลแมงโก้ จังหวัดปัตตานี
    ผลงาน น้ำพริกออร์แกนิคปลอดสารกันบูด
  • รางวัล Popular vote ได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท ได้แก่
    ทีม ต่าพอเฌอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
    ผลงาน ผงปรุงรสต่าพอเฌอ
  • สอบถามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่  ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ www.facebook.com/thai.nuclear