ด้วยฉันทามติจากการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) องค์กรต่าง ๆ อาทิ Airbus, CottonConnect, Earthworm Foundation, Tropical Forest Alliance และ World Resources Institute ได้ร่วมกันเรียกร้องให้ทุกภาคตลอดทั้งซัพพลายเชนร่วมมือกัน เพื่อสร้างอิทธิพลในเชิงบวกต่อผู้คนและโลกใบนี้ ในการประชุมโต๊ะกลมประจำปี 2564 ของ RSPO

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ได้จัดการประชุม 2021 Virtual Roundtable Conference ขึ้นภายใต้ธีม "ความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ: สร้างหลักประกันถึงอนาคตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน" การประชุมครั้งนี้ได้รวบรวมกูรูชั้นนำแห่งแวดวงสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร ซึ่งได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน ไปจนถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ

ผู้ร่วมอภิปรายเปิดฉากด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองของตนเองที่มีต่อการประชุม COP26 โดยระบุว่า ที่ประชุม COP26 ให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้งานผืนป่าและผืนดินอย่างเด่นชัด ซึ่งผู้นำจากกว่า 100 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะยุติการทำลายป่า พร้อมสงวนรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้ได้ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ที่ประชุม COP26 ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโซลูชันต่าง ๆ อาทิ RSPO และโครงการริเริ่มอาสาสมัครอื่น ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันปาล์มโดยตรง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมักถูกมองเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการทำลายป่าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน การวิเคราะห์อย่างเข้มข้นในประเด็นแรกคือการรับมือกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานอันซับซ้อน โดยผู้ร่วมอภิปรายได้เน้นย้ำว่า ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานไม่สามารถแยกออกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเด็ดขาด และถือเป็นความท้าทายที่ยากเป็นอันดับต้น ๆ ในอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร

ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมอภิปรายยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานในด้านต่าง ๆ อาทิ มาตรฐานของ RSPO "เพื่อใช้เป็นแนวทางที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน" โดยคุณแจนฮาวี ไนดู จาก Earthworm Foundation กล่าวว่า "เรามุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดระเบียบวาระ วิสัยทัศน์ และความคาดหวังของ RSPO ตลอดจนมาตรฐานในลักษณะเดียวกันนี้ ให้กลายเป็นทรัพยากรและโซลูชันที่นำไปปฏิบัติได้จริง เนื่องจากผู้ที่จะรับนำเอาแนวทางเหล่านี้ไปใช้งานนั้นต้องการการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ตลอดจนระยะเวลา และการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้ปรับใช้แนวทางด้านแรงงานได้อย่างเหมาะสม"

ด้านคุณอลิสัน วาร์ด จาก CottonConnect ซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันได้กล่าวเสริมว่า "การดูแลแรงงานอย่างเป็นธรรมต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อุปทาน การแทรกแซงในท้องถิ่น และการมีส่วนร่วม โดยในภาคสิ่งทอนั้น แบรนด์และบริษัทต่าง ๆ จะต้องพบปะพูดคุยกับเกษตรกร บริษัทแปรรูป และผู้ปั่นด้าย เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อกังวลของพวกเขา และลงทุนในทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้" โดยเธอได้นำเสนอตัวอย่างของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในชุมชนผู้ปลูกฝ้ายในอินเดียและปากีสถาน เพื่อสร้างหลักประกันว่าสุขภาพและความปลอดภัยของเหล่าเกษตรกรจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำงานในภาคน้ำมันปาล์มนั่นเอง

การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ผู้ร่วมอภิปรายได้พูดถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ห่วงโซ่อุปทานน้ำมันปาล์มมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดทางให้ธุรกิจสามารถผลักดันการปฏิบัติงานในด้านความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ RSPO ถือเป็นองค์กรแนวหน้าที่มุ่งพัฒนาโซลูชันเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแผนการรับรอง

ทางด้านคุณร็อด เทย์เลอร์ จากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute: WRI) ได้ยกตัวอย่างของ GeoRSPO ซึ่งได้นำแผนที่สัมปทาน RSPO มารวมไว้ในแพลตฟอร์มของ Global Forest Watch โดยอธิบายว่า "Global Forest Watch จะป้อนข้อมูลเข้าไปยัง GeoRSPO โดยตรง ด้วยการรวมภาพถ่ายจากดาวเทียมและคลาวด์คอมพิวติ้งที่สะดวกต่อผู้ใช้งานเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน… วิธีนี้ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ บริหารจัดการความเสี่ยงจากการทำลายป่าไม้ในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง พร้อมทั้งรวมแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงและการรายงานข้อมูลไว้ในระบบบเดียว"

เวนดี คาร์รารา จากแอร์บัส ให้ความเห็นว่า "เราใช้เวลา 20 ปีเพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง เพื่อสนับสนุนงานด้านการติดตามการใช้พื้นที่เพาะปลูก ยกระดับการแจ้งเตือนเมื่อพบการบุกรุกทำลายป่า และเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน ทั้งหมดนี้ช่วยให้มั่นใจถึงกระบวนการจัดหาน้ำมันปาล์มอย่างมีความรับผิดชอบ เรานำภาพถ่ายทางดาวเทียมมาวิเคราะห์โดยใช้พารามิเตอร์เชิงชีวฟิสิกส์ เพื่อสร้างแผนที่พื้นฐานสำหรับการตรวจติดตามผลในภาพใหญ่ พร้อมเจาะจงพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ"

การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในชนบท สำหรับการหารืออย่างเจาะลึกในประเด็นสุดท้ายนั้น ครอบคลุมแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือด้านสภาพอากาศโดยอาศัยมาตรฐานการรับรองอย่าง RSPO ที่นอกจากจะก่อประโยชน์ต่อโลกแล้ว ยังเป็นการดีสำหรับผู้คนด้วย ซึ่งการเตรียมพร้อมดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องจำเป็นในทางระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างพลังทางสังคมด้วยการส่งเสริมศักยภาพของแรงงาน การสร้างงาน และยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ขณะที่คุณจัสติน อดัมส์ จาก Tropical Forest Alliance สนับสนุนการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่ไปกับการลงมือแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ เขากล่าวว่า "เราทราบดีถึงความสำคัญของมิติด้านสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม แม้เป้าหมายด้านสภาพอากาศจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ก็ถือเป็นเพียงมิติที่ต้องปรับให้เหมาะสมเพียงมิติเดียว เราต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมในภาคส่วนนี้ช่วยกันลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง" ขณะที่คุณร็อดได้เน้นย้ำว่า โซลูชันการแก้ปัญหาในภาพรวมนั้นอยู่ที่การนำทรัพยากร เช่น ที่ดิน มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน การสร้างเสถียรภาพให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ สร้างกำไรจากการเพาะปลูกให้งอกเงยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนให้ผลตอบแทนเมื่อมีการร่วมมือที่ดี

แม้หนทางข้างหน้าจะมีความท้าทายรออยู่ก็ตาม แต่เราก็ได้เห็นการบูรณาการเพื่อไปสู่เป้าหมายด้านสภาพแวดล้อมและสังคมในระดับที่ลงลึกมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ผู้ร่วมเสวนายังได้ทิ้งท้ายการประชุมในมุมมองบวก โดยระบุว่า องค์กรทั้งหลาย เช่น RSPO เป็นกำลังสำคัญในการผนึกความร่วมมือระหว่างชุมชนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญเหล่านี้ คุณจัสตินกล่าวว่า "การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนการรับรองมาตรฐานการผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน (Certified Sustainable Palm Oil) เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างระบบนิเวศน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนด้วย ทุกคนล้วนมีบทบาทที่จะช่วยให้เป้าหมายนี้สำเร็จลุล่วง"

เกี่ยวกับ RSPO:
Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการใช้ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลกที่น่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย RSPO เป็นองค์กรสมาชิกระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งรวบรวมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปหรือผู้ค้าน้ำมันปาล์ม ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ค้าปลีก ธนาคารและนักลงทุน องค์กรเอ็นจีโอด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรเอ็นจีโอด้านการพัฒนาและสังคม

การมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนสะท้อนถึงโครงสร้างของ RSPO ที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล โดยมีการจัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นกลาง ทั้งในส่วนคณะกรรมการกลาง คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านนโยบาย และคณะผู้ปฏิบัติงาน วิธีนี้ช่วยให้ RSPO นำหลักการของ "การประชุมโต๊ะกลม" ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล โดยกระจายสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกันให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่ม ขณะเดียวก็ส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในฝ่ายตรงข้ามเพื่อตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน และบรรลุวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันกับ RSPO ในการทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนกลายเป็นบรรทัดฐาน

สมาคมแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสำนักเลขาธิการในกัวลาลัมเปอร์ และมีสำนักงานสาขาย่อยในจาการ์ตา (อินโดนีเซีย), ลอนดอน (สหราชอาณาจักร), ซูเทอร์เมร์ (เนเธอร์แลนด์), ปักกิ่ง (จีน) และโบโกตา (โคลอมเบีย)

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1695674/RT2021.jpg

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1160778/RSPO_Logo.jpg