สมาคมสินแร่ฯตามติดกระบวนการจัดทำร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 พบเสร็จไม่ทันสิ้นปีและมีโอกาสลากยาวถึงกลางปี 65 ระบุต้องฝ่าฟัน 3 ด่านอรหันต์คนร.-สภาพัฒน์-ครม.

ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง เปิดเผยถึงการติดตามความคืบหน้า “แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 พ.ศ.2565-2569” ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังเร่งดำเนินการจัดทำให้เสร็จทันกับที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 ซึ่งจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ว่าตามไทม์ไลน์ที่ทราบจากฝ่ายราชการขณะนี้อยู่ในขั้นเผยแพร่ข้อมูลเพื่อจัดโฟกัส กรุ๊ปและจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมเป็นครั้งสุดท้ายภายในเดือนธันวาคม

ช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะสามารถนำเสนอร่างแผนแม่บทฯฉบับที่ 2 ต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการขั้นต่อไปคือการเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนจะเข้าสู่ด่านสุดท้ายคือคณะรัฐมนตรี                                                                                           

“เท่าที่ประเมินเดือนธันวาคมนี้ไม่ทันแน่นอนอย่างเร็วที่สุดคือไตรมาสแรกของปีหน้าและหวังว่าอย่างช้าจะไม่เกินไตรมาส2 หรือกลางปีหน้าในระหว่างนั้นทางราชการก็คงจะต้องใช้แผนแม่บทฯฉบับที่ 1 ต่อไปก่อนซึ่งคงไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดอย่างที่รัฐบาลบอกกล่าวกับประชาชนและภาคเอกชนไว้” ดร.วิจักษ์กล่าว

ดร.สมหวัง วิทยาปัญญานนท์ เลขาธิการสมาคมฯกล่าวเสริมว่า เนื่องจากทาง กพร.มีนโยบายรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมให้มากที่สุดทางสมาคมฯจึงได้มีเอกสารเสนอความคิดเห็นที่มาจากคณะกรรมการและสมาชิกในหลายเรื่องอาทิ การขอให้พิจารณานโยบายสำรวจแร่และงบประมาณพิเศษเพื่อการสำรวจแร่เพื่อค้นหาแร่ประเภทใหม่ๆที่ทันกับยุคสมัยดิจิทอล เช่นลิเธียมขอให้พิจารณาเครื่องมือและวิธีการจัดการโดยใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องการกำหนดโซนแร่และเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า

นอกจากนี้ยังขอให้พิจารณาปัญหาจากกฎหมายอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ เช่น พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งสมาคมฯได้ติดตามกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมถึงการขอให้ตรวจสอบเรื่องคณะกรรมการแร่จังหวัด ซึ่งพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 กำหนดไว้แต่จนถึงบัดนี้หลายจังหวัดที่มีการออกประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแร่จังหวัดซึ่งเป็นปัญหาต่อภาคเอกชน เป็นต้น