มากกว่าการเป็นโรงเรียนแพทย์ของแห่งแรกของไทย ภารกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นอกเหนือหน้าที่หลักในการผลิตแพทย์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ คือการรับใช้สังคม เผยแพร่และให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนชาวไทย เติบใหญ่ข้ามกาลเวลามากว่า 133 ปี โดยพัฒนาการเรียนการสอนให้ก้าวทันตามยุคสมัย ผลิตบัณฑิตแพทย์และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาแลัวนับไม่ถ้วน

 

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดงาน Siriraj Education Expo 2021 ในรูปแบบ Virtual Event เพื่อเปิดโลกการเรียนการสอนทั่วศิริราชที่ไม่ได้มีแค่การเป็นแพทย์ แต่จะได้พบมุมมองการศึกษาในรั้วศิริราชทุกระดับ ทั้งหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรการศึกษาหลังปริญญาในหลากหลายหลักสูตร เพื่อผลิตแพทย์เฉพาะทางให้กับประเทศในสาขาต่างๆ 

 

รศ.ดร.นพ.ถาวรชัย ลิ้มจินดาพร รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกจากศิริราชจะผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีจุดเด่นด้านหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลด้านแพทยศาสตร์ศึกษา WFME (World Federation for Medical Education) จากแพทยสภา เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ สูติศาสตร์ เป็นต้น และมีหลักสูตรใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ธนาคารเลือด และเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ

 

“หลังจากจบแพทยศาสตร์ 6 ปี เส้นทางชีวิตของคุณหมอ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต แพทย์ส่วนใหญ่ศึกษาต่อในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน หลังจากนั้นยังมีหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากเราจะสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด ให้กับประเทศจำนวนมากแล้วยังมีหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งหลายหลักสูตรในคณะฯ ได้รับการรับรองจากอาเซียน เรียกว่า AUN-QA (Asean University Network -Quality Assurance) ทั้งยังสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาทั้งที่เป็นแพทย์และไม่ใช่แพทย์ ให้ไปแลกเปลี่ยนรวมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยในต่างประเทศ ก็มีโอกาสไปทั่วโลก

 

รศ.ดร.นพ.ถาวรชัย กล่าวอีกว่า หลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอกของศิริราชจะมีการเรียนการสอนที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรนานาชาติ สาขาที่ได้รับความนิยม คือ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก และ สาขาวิชากายอุปกรณ์ จะเห็นว่า “องค์ความรู้ของเราไม่หยุดนิ่ง มีหลักสูตรร่วมที่ทำกับทั้งในและต่างประเทศ เรามีหลักสูตรทางระบาดวิทยาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยขอนแก่น 


ทั้งยังมีเครือข่ายในยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน หรือนักศึกษาทุกระดับ ร่วมสร้างหลักสูตรปริญญาเอกกับมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ หรือ Tokyo Medical and Dental University ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งความร่วมมือและเครือข่ายเหล่านี้ จะสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น ท้ายที่สุดแล้วเราก็จะได้สร้างคนที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม ประเทศ รวมถึงขยายสังคมโลกด้วย” 

 

นอกจากนี้เรายังมีหลักสูตรการเรียนยุคใหม่ที่เรียกว่า Flexible Education ออกแบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะสามารถเรียนนอกเวลาจากที่ใดก็ได้ เป็นการเรียนแบบสะสมเครดิต หรือเลือกเพิ่มเติมทักษะเฉพาะด้านได้ 

 

“หลักสูตรที่เรามีครอบคลุมทั้งนักเรียนที่จบแพทย์และที่ไม่ใช่แพทย์ หลักสูตรที่มีคนมาเรียนจำนวนมาก จะเป็น หลักสูตรการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรสายสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในต่างจังหวัด เป็นระดับอาจารย์หรือผู้บริหารโรงพยาบาลต้องการความรู้และทักษะเพิ่มเติม โดยข้อดีของการเรียนหลักสูตรแบบยืดหยุ่นนี้คือ ถ้าเรียนไปเรื่อยๆ ก็มีสิทธิ์ได้ประกาศนียบัตร หรือเก็บสะสมเครดิตแล้วทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดในปริญญาโทได้

 

สำหรับ Flexible Education มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จะถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางใน โครงการ Mahidol Apprenticeship Program (MAP)  ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป และผู้สนใจ สามารถเข้ามาเรียนเพื่อปรับเพิ่ม พัฒนาความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน (Reskill Upskill Addskill) โดยการเปิดรายวิชาและการจัดฝึกอบรมระยะสั้น ซึ่งผู้เรียนสามารถนำรายวิชามาขอโอนหน่วยกิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหิดลได้ เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับชีววิทยาของโรคมะเร็ง ก็มีเด็กมัธยมปลายเข้ามาเรียนร่วมกับนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ และคนที่ทำงานด้านนี้ เขามีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เขากระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียน และรู้ตัวเองว่าเขาเหมาะจะมาเป็นแพทย์หรือไม่” 

 

รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการพัฒนาและปรับตัวหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมอยู่เสมอ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญมาปรับปรุงหลักสูตรทางการแพทย์ให้ตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาสังคม พร้อมดึงศักยภาพและไอเดียของแพทย์รุ่นใหม่มาช่วยออกแบบหลักสูตร 

 

การออกแบบและพัฒนาหลักสูตรทั้งเก่าและใหม่ ต้องฟังเสียงคน 4 กลุ่ม ได้แก่ ตัวผู้เรียน ผู้สอน ผู้ใช้บัณฑิต (นายจ้างของบัณฑิตที่จบไป) และศิษย์เก่า หรือกลุ่มที่ออกไปทำงาน คนเหล่านี้จะให้ฟีดแบ็คที่เป็นความจริงได้ข้อมูลในจุดที่ต้องพัฒนา รวมถึงทำให้ทราบว่าจะต้องพัฒนาบัณฑิตไปในทิศทางใด ทักษะบุคลากรต้องการ ศิริราชนำข้อคิดเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงและเพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งระดับนักเรียนแพทย์และระดับแพทย์ประจำบ้าน ปริญญาโท ปริญญาเอก ทำให้หลักสูตรเราทันสมัย และตอบโจทย์กับเด็กและสังคมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

 

ทั้งนี้ งาน Siriraj Education Expo 2021 ในรูปแบบ Virtual Event จะจัดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนทัศนะกับคณาจารย์จากสาขาต่างๆ และฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากแพทย์รุ่นพี่ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่นักเรียน ผู้ปกครอง อาจารย์ รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงผู้สนใจในสาขาต่างๆ ได้เข้ามาเปิดมุมมองใหม่ๆ ในรั้วศิริราช

 

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันนี้ - 11 ธันวาคม 2564 และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.zipeventapp.com/e/siriraj-education-expo-2021

Official Trailer : https://www.youtube.com/watch?v=W41CJL7MDGg