เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมความร่วมมือทางทะเลและการบริหารมหาสมุทรทั่วโลกประจำปี 2564 (Symposium on Global Maritime Cooperation and Ocean Governance 2021) ได้จัดขึ้นที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน

การประชุมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยจีน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยทะเลจีนใต้ (China-Southeast Asia Research Center on the South China Sea) สถาบันทะเลจีนใต้ศึกษาแห่งชาติ (National Institute for South China Sea Studies) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนามหาสมุทรของจีน (China Oceanic Development Foundation) โดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ อดีตผู้นำทางการเมือง นักการทูตอาวุโสจากต่างประเทศ ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่รัฐรวมกว่า 800 คน จากกว่า 30 ประเทศและดินแดน ได้เข้าร่วมการประชุมทั้งในสถานที่จริงและผ่านทางออนไลน์

นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์หลักผ่านทางวิดีโอในพิธีเปิดการประชุม ขณะที่นายอู๋ เจียงฮ่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์หลักในสถานที่ประชุมในเมืองซานย่า นอกจากนี้ นายหวัง หง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานแห่งรัฐเพื่อการบริหารมหาสมุทร รวมถึงนายหวัง ปิน รองผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานด้วยเช่นกัน และยังมีอีกหลายท่านที่ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวิดีโอ ได้แก่ อดีตประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย แห่งฟิลิปปินส์, นายหลิว เจิ้นหมิน รองเลขาธิการสหประชาชาติ, นายไมเคิล ลอดจ์ เลขาธิการองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority) และนายอัดนัน ราชิด นาสเซอร์ อัล-อัซรี ประธานคณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีป (Commission on the Limits of the Continental Shelf)

นายหวัง อี้ กล่าวว่า จีนพร้อมทำงานร่วมกับประเทศอื่นทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการสร้างประชาคมทางทะเลที่มีอนาคตร่วมกัน พร้อมกับเน้นย้ำว่าเราต้องยึดมั่นในระบบพหุภาคีและร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อยทางทะเล รวมถึงต้องยึดมั่นในการเจรจาและการปรึกษาหารือ ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมความสงบสุขในมหาสมุทร นอกจากนี้ จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนควรคว้าโอกาสเพื่อสรุปประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea) ให้ได้โดยเร็ว เพื่อทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ สุดท้ายคือ เราต้องยึดมั่นในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโลกของเราจะยังคงมีมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์

ในการประชุมสองวัน ผู้เข้าร่วมการประชุมได้หารือกันอย่างครอบคลุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกในประเด็นต่าง ๆ อาทิ "โอกาสและความท้าทายในการบริหารมหาสมุทรทั่วโลก" "การปรับโครงสร้างสถาปัตยกรรมความปลอดภัยในทะเลจีนใต้" "แนวทางปฏิบัติในการบริหารมหาสมุทรในทะเลจีนใต้" "การวิจัยขั้นแนวหน้าว่าด้วยกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ" "ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล" "แนวทางปฏิบัติในการบริหารมหาสมุทรในอาร์กติก" และ "เศรษฐกิจสีน้ำเงินและการพัฒนามหาสมุทรอย่างยั่งยืน"