กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมกับเครือข่ายความปลอดภัยแรงงาน และสมาคม/ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จัดงาน 12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน รณรงค์บำเพ็ญสาธารณประโยชน์พร้อมกันทั่วประเทศ

                นายนิยม  สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 ที่กำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มี “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน”(จป.) ทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในสถานประกอบกิจการ เพื่อลดการประสบอันตราย และโรคเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับแรกของการมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าเป็นวันครบรอบปีที่ 36 ของการมี จป. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้ร่วมกับเครือข่ายความปลอดภัยแรงงาน และสมาคม/ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จัดงาน 12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ภายใต้แนวคิด “สานพลังเครือข่าย จป. สู้ภัยวิกฤต เพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงานไทย” ณ ห้องประชุม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ภายในงานมีพิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของอาเซียน ให้กับสถานประกอบกิจการ 2 แห่ง ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท นวอินเตอร์เทค จำกัด พร้อมทั้งมีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมโครงการพัฒนานักบริหารความปลอดภัยขั้นสูง จำนวน 33 คน การจัดนิทรรศการสร้างการรับรู้มาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กิจกรรมบริจาคโลหิต และการถ่ายทอดสดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จากชมรมเครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานส่วนภูมิภาคที่ร่วมกันจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางในอนาคตในเชิงสร้างสรรค์เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” และ “ทิศทางการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยในมุมมองภาครัฐ”

                อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลสถานประกอบกิจการให้ดำเนินการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นำมาซึ่งความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยที่ดีให้แก่ลูกจ้าง อีกทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานก็เป็นบุคลากรที่สำคัญที่ช่วยดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในสถานประกอบกิจการตามมาตรการ Bubble and Seals และมาตรการ Factory Sandbox ซึ่งพลังจากความร่วมมือนี้เองนับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติก้าวผ่านวิกฤตสามารถเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป