CGIAR ได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยรวมเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศ
การลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรม เช่น แอฟริกา ซึ่งก่อปัญหาสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุดแต่กลับได้รับผลกระทบหนักที่สุด
เนื่องจากมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรม เช่น แอฟริกาใต้สะฮารา ดังนั้นในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP26 บรรดาผู้สนับสนุนจึงให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 575 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งมอบโซลูชันที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate Smart) ให้แก่เกษตรกรในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ผ่านทางเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเกษตรระดับโลก CGIAR ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสนับสนุน 256 ล้านดอลลาร์จากงาน Global Citizen Live เมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งเงินสนับสนุนจากสวีเดนและเบลเยียม ส่งผลให้ในปีนี้ CGIAR ได้รับเงินสนับสนุนรวม 863 ล้านดอลลาร์สำหรับนำไปใช้รับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจส่งผลส่งกระทบอย่างมากต่อการต่อสู้กับปัญหาความหิวโหยและความยากจนทั่วโลก
นอกจากนี้ CGIAR มีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีกก้อนใหญ่ในการประชุม COP26 ที่ยังคงดำเนินต่อไป
"เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามของ CGIAR ในการเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรหลายล้านคนให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการจัดหานวัตกรรมต่าง ๆ เช่น พันธุ์พืชที่ทนทาน และกลยุทธ์ใหม่ในการฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรม" คุนดาห์วี คาดีเรซาน กรรมการผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมสากลของ CGIAR กล่าว "เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบมากมายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตอาหารในภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น แอฟริกาใต้สะฮาราและเอเชียใต้ นอกจากนี้ เรายังมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวด้วยโซลูชันแบบบูรณาการที่มีความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรมกับธรรมชาติ"
CGIAR เป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยของภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยกว่า 500 ล้านคนที่ผลิตอาหารป้อนประชากรหลายพันล้านชีวิตในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชผล สัตว์น้ำ และปศุสัตว์ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความหิวโหยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและบั่นทอนความก้าวหน้านานหลายปี
ภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตอาหารก็อาจกระทบต่อ 15% ของ GDP ของประเทศในแอฟริกาภายในปี 2573 นอกจากนั้นยังมีความกังวลว่าการขาดความพยายามเชิงรุกในการช่วยเหลือเกษตรกรให้ปรับตัว จนปัญหาสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมในภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนและการขาดสารอาหารสูงอยู่แล้ว จะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่าด้วยการขจัดความหิวโหยและการขจัดความยากจนสุดขีดภายในปี 2573
ในการประกาศให้เงินทุนสนับสนุนครั้งนี้ มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 315 ล้านดอลลาร์ในช่วงสามปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของ CGIAR โดยครึ่งหนึ่งของเงินก้อนดังกล่าวจะนำไปสนับสนุนโครงการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ CGIAR เพื่อยกระดับการสร้างความร่วมมือ องค์ความรู้ และสินทรัพย์ของ CGIAR ในการเร่งถ่ายทอดนวัตกรรมให้แก่เกษตรกรรายย่อย
นอกจากนี้ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินสนับสนุน 215 ล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปีข้างหน้า และแคนาดาให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 45 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนเงินทุนรายอื่น ๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยุทธศาสตร์การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของ CGIAR ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยสวีเดนให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 18 ล้านดอลลาร์ ส่วนเบลเยียมต้องการสานต่อความร่วมมืออันแข็งแกร่งกับ CGIAR โดยตั้งเป้ามอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 14 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกำลังรอการอนุมัติจากรัฐสภาในปีงบประมาณ 2565
ก่อนที่จะได้รับเงินสนับสนุนก้อนล่าสุดในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ได้ให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุน 256 ล้านดอลลาร์แก่ CGIAR ในงาน Global Citizen Live เมื่อเดือนกันยายน ประกอบด้วยเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป 162.4 ล้านดอลลาร์ เนเธอร์แลนด์ 87 ล้านดอลลาร์ และเบลเยียม 7 ล้านดอลลาร์
"ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตอาหารเป็นภัยคุกคามหลายร้อยล้านชีวิตที่ต้องพึ่งพาเกษตรกรรมในการหาเลี้ยงชีพ" บิล เกตส์ ประธานร่วมของมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ กล่าว "CGIAR นำเสนอทางออกที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่เกษตรกรรายย่อยมานานครึ่งศตวรรษ และผมมั่นใจว่า CGIAR จะเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนานวัตกรรมที่จำเป็นต่อการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
"ในฐานะผู้บริจาคที่ร่วมก่อตั้ง CGIAR ทางองค์การ USAID ภูมิใจที่ได้สานต่อความร่วมมืออันยาวนานด้วยการให้คำมั่นมอบเงินสนับสนุนอย่างน้อย 215 ล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเกษตรที่มีความสำคัญ" ดร. จิม บาร์นฮาร์ต ผู้ช่วยผู้บริหารสำนักงานความมั่นคงทางอาหารและการฟื้นตัวของ USAID กล่าว "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เงินทุนสนับสนุนก้อนนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรสำหรับประชากร 200 ล้านคนในเอเชียใต้และแอฟริกาใต้สะฮาราได้ราว 25% ภายในปี 2573 ทั้งนี้ CGIAR เป็นพันธมิตรที่สำคัญของเราในการสร้างอนาคตที่มีความมั่นคงทางอาหารและสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ"
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1677024/COP26.jpg