เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 สู่ระดับ 5.9% พร้อมกับเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนในระดับสูง
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว บรรดาผู้นำ G20 ได้มารวมตัวกันที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเป็นการประสานความร่วมมือระดับพหุภาคีเพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง ดังเช่นที่เคยมีการจัดประชุมสุดยอดสองครั้งต่อปีหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551
ประเทศจีน ในฐานะกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือ ความครอบคลุม และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ครั้งที่ 16
ร่วมมือกันรับมือโควิด
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงสร้างความเสียหายทั่วโลก ความร่วมมือด้านวัคซีนทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญสูงสุดในการกล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอระหว่างการประชุมรอบแรก
นายสี จิ้นผิง ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านวัคซีนทั่วโลก (Global Vaccine Cooperation Action Initiative) 6 ประการ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน การกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม การสละสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนโควิด-19 การซื้อขายวัคซีนอย่างราบรื่น การรับรองวัคซีน และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนทั่วโลก
การกระจายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาที่เด่นชัด โดยกลุ่มประเทศรายได้ต่ำได้รับวัคซีนไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่ประชากรในแอฟริกาได้รับวัคซีนครบโดสไม่ถึง 5% จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
WHO กำหนดเป้าหมายสองประการในการรับมือกับโควิด-19 นั่นคือ การฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกอย่างน้อย 40% ภายในสิ้นปี 2564 และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 70% ภายในกลางปี 2565
"จีนพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อยกระดับการเข้าถึงวัคซีนราคาย่อมเยาในประเทศกำลังพัฒนา และช่วยสร้างแนวป้องกันด้วยวัคซีนทั่วโลก" นายสี จิ้นผิง กล่าว
นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ จีนได้จัดหาวัคซีนกว่า 1.6 พันล้านโดสให้แก่ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 100 แห่ง และตั้งเป้าจัดหาวัคซีนรวมกว่า 2 พันล้านโดสภายในปีนี้ พร้อมกับเสริมว่าจีนกำลังผลิตวัคซีนร่วมกับ 16 ประเทศในขณะนี้
สร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง
ในการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำว่า G20 ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค พร้อมกับเรียกร้องให้ดำเนินการพัฒนาอย่างเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วโลกมากขึ้น เพื่อรับประกันว่าไม่มีประเทศใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
"ประเทศพัฒนาแล้วควรทำตามคำมั่นสัญญาในการให้ความช่วยเหลือและจัดหาทรัพยากรเพิ่มเติมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา" นายสี จิ้นผิง กล่าว
นอกจากนี้ เขาแสดงความยินดีที่หลายประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในแผนการพัฒนาโลก (Global Development Initiative)
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อไม่นานมานี้ นายสี จิ้นผิง ได้นำเสนอแผนการพัฒนาโลก โดยเรียกร้องให้ประชาคมโลกกระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร การตอบสนองต่อโควิด-19 และวัคซีน การเงินเพื่อการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัลและการเชื่อมต่อ
นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า แผนการพัฒนาโลกมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของ G20 ในการส่งเสริมการพัฒนาทั่วโลก
ยึดมั่นในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญระดับโลกในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งเปิดฉากเมื่อวันอาทิตย์ ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์
ในโอกาสนี้ นายสี จิ้นผิง เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นตัวอย่างที่ดีในการลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงช่วยจัดการกับอุปสรรคและความกังวลของประเทศกำลังพัฒนา พร้อมกับทำตามคำมั่นสัญญาในการให้เงินทุนสนับสนุนการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนจัดหาเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพ และให้การสนับสนุนอื่น ๆ แก่ประเทศกำลังพัฒนา
"สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการประชุม COP26" เขากล่าว
ในหลายโอกาส นายสี จิ้นผิง ได้ตอกย้ำมุมมองของจีนที่มีต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงให้เห็นว่าจีนสนับสนุนความตกลงปารีส (Paris Agreement) อย่างเต็มที่ พร้อมกับช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในระดับสากล
ในปี 2558 นายสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์หลักในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส และมีส่วนสำคัญในการบรรลุความตกลงปารีสว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกหลังปี 2563
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำความพยายามของจีนในการปล่อยคาร์บอนถึงจุดสูงสุดและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอด G20 ในปีนี้จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีประเทศอิตาลีเป็นประธาน และให้ความสำคัญกับความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดทั่วโลก โดยวาระสำคัญประกอบด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
G20 จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ประกอบด้วยสมาชิก 19 ประเทศ บวกสหภาพยุโรป โดยเป็นเวทีหลักสำหรับสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นเศรษฐกิจและการเงิน
G20 ครอบคลุมเกือบสองในสามของประชากรโลก ทั้งยังคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของ GDP ทั่วโลก และคิดเป็นสัดส่วน 75% ของการค้าโลก
https://news.cgtn.com/news/2021-10-30/China-puts-forward-proposals-on-boosting-global-development-14MDU37P5gk/index.html