เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้ออกนโยบายใหม่เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมบริการสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่านโยบายนี้จะผลักดันอุตสาหกรรมบริการสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตของจีนให้เข้าสู่ยุคของการพัฒนาที่ได้มาตรฐาน

ข้อมูลจาก NHC ระบุว่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 จีนมีโรงพยาบาลอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1,600 แห่ง ซึ่งให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ เช่น การให้คำปรึกษาออนไลน์ สำหรับโรงพยาบาลอินเทอร์เน็ตแห่งแรกในจีนนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ในเมืองอู่เจิ้น มณฑลเจ้อเจียง โดยแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล WeDoctor

นโยบายนี้สร้างความสนใจอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของจีนนับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัว นโยบายกำกับดูแลการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในอุตสาหกรรม เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพลตฟอร์มการแพทย์ดิจิทัลขนาดใหญ่ที่ให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

เอกสารชื่อ "กฎระเบียบข้อบังคับของการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์ (ร่างสำหรับความคิดเห็น)" ระบุว่า แพทย์จะต้องพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงก่อนที่จะให้คำปรึกษา เพื่อให้แน่ใจว่าการให้คำปรึกษาออนไลน์กระทำโดยแพทย์ตัวจริง ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น ซอฟต์แวร์ AI ฯลฯ ปลอมตัวหรือทำหน้าที่แทนแพทย์ ซึ่งส่งผลให้บางบริษัทที่เน้นใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้

จีนไม่อนุญาตให้แพลตฟอร์มบริการสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตใช้คำปรึกษาเป็นเครื่องมือในการขายยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ ห้ามใช้ใบสั่งยารวมและการจ่ายยาต่อเนื่องตามใบสั่ง รายได้ส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ต้องไม่เชื่อมโยงกับรายได้จากยาและการตรวจทางการแพทย์ และแพทย์ต้องไม่กำหนดสถานที่ซื้อยาและเวชภัณฑ์

เหลียว เจียหยวน ผู้ก่อตั้ง WeDoctor แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดของจีน เชื่อว่านโยบายดังกล่าวส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์ควรมีคุณภาพแบบเดียวกับที่ได้รับจากสถานพยาบาลตามปกติ และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจีนในการพัฒนาบริการทางการแพทย์ดิจิทัล ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ได้มาตรฐานและการขยายตลาดของอุตสาหกรรมบริการสุขภาพทางอินเทอร์เน็ต

ประชากร 1.4 พันล้านคนในประเทศจีนมีความต้องการบริการด้านสุขภาพอย่างมาก และโรงพยาบาลตามปกติไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์ม เช่น WeDoctor จึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของจีน

รายงานการวิจัยที่เผยแพร่ต่อสาธารณะโดย CICC ระบุว่า เนื่องด้วยนโยบายกำกับดูแลอุตสาหกรรมบริการสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตมีความโปร่งใสและเป็นมาตรฐานมากขึ้น จึงคาดว่าบริษัทที่ให้บริการทางการแพทย์จริงและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้มากที่สุด

ที่มา: WeDoctor

AsiaNet 92698