รมว.แรงงาน ห่วงการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยในงานซ่อมบำรุงประจำปี เตือนนายจ้างระวังดูแลให้ปฏิบัติตามขั้นตอนและกฎระเบียบที่กฎหมายกำหนด สั่งพนักงานตรวจความปลอดภัยทั่วประเทศเร่งรัดการตรวจกำกับสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยง

            นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาสิ้นปีสถานประกอบกิจการจะมีการหยุดไลน์การผลิตเพื่อทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ของระบบท่อและถังบรรจุสารเคมี ระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งอาคารสถานที่ ซึ่งการทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุงอาจทำโดยลูกจ้างของบริษัทหรืออาจจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการ โดยที่ผ่านมามักปรากฏเป็นข่าวการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยขณะทำการซ่อมบำรุงขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เกิดระเบิด เพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล ไฟฟ้าช็อต ตกจากที่สูง รวมทั้งเสียชีวิตจากที่อับอากาศ ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียทั้งร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของลูกจ้างและนายจ้าง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้างและลูกจ้าง กำชับให้ดูแลป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ กระทรวงแรงงานจึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งรัดการตรวจกำกับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร  ไฟฟ้า สารเคมีอันตราย ที่อับอากาศ และการทำงานในที่สูง และขอความร่วมมือนายจ้างให้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างและผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามขั้นตอนและกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการทำงาน

            นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร. ขานรับข้อสั่งการของท่านรมว. สุชาติ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการทำงานซ่อมบำรุงประจำปีของสถานประกอบกิจการ กรมจึงได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัยของหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศเร่งรัดการตรวจกำกับสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย รวมทั้งสถานประกอบกิจการที่จะมีการซ่อมบำรุงประจำปีซึ่งสภาพการทำงานมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยมากกว่าการทำงานปกติ เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานใกล้ชิดหรือสัมผัสกับแหล่งอันตรายซึ่งอาจอยู่ในสภาพที่ชำรุดหรือขาดการบำรุงรักษา เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ถังเก็บสารเคมี ที่อับอากาศ เป็นต้นถ้าไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอก็จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยร้ายแรงได้ ดังนั้นก่อนการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงนายจ้างจะต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงาน วิเคราะห์งานและประเมินความเสี่ยง กำหนดมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานและแจกคู่มือปฏิบัติงาน มีระบบการขออนุญาตการทำงาน (Permit to work system) พร้อมมอบหมายให้หัวหน้างานกำกับดูแลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาการทำงาน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งผู้รับเหมา หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ความปลอดภัยในการทำงาน กองความปลอดภัยแรงงาน0 2448 9128-39 ต่อ 603-610