ภายหลัง “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 9 กันยาบน  2564 การกำกับดูแลงาน 4 กรมได้เปลี่ยนมือไปอยู่กับ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  (ส.ป.ก.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

ผู้ที่ต้องกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งที่เหนือขึ้นไป แม้จะปรับเปลี่ยนจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เคยมอบหมาย  มาเป็น จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ก็มิได้ทำให้งานที่ผู้กองนัสเคยริเริ่มและผลักดันในเชิงนโยบายต้องสะดุดหยุดลง

เนื่องเพราะ“เฉลิมชัย”ไม่เพียงแต่รับรู้มาโดยตลอดในฐานะเป็นเจ้ากระทรวงที่ต้องพูดคุยหารือกับรัฐมนตรีช่วยฯ หากแต่ยังให้เกียรติผู้กองนัสซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐและต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค

ประการสำคัญ งานหลายอย่างที่ผู้กองนัสเริ่มไว้และดำเนินต่อเนื่องมาตลอด 2 ปีนั้น ล้วนเป็นประ โยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงาน ส.ป.ก.  อดีตรมช.ธรรมนัสได้ขับเคลื่อนนโยบาย อาทิเช่น เรียกคืนการถือครองที่ดินที่ผิดกฎหมายนำมาจัดสรรให้เกษตรกร การจัดระเบียบที่ดินที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมโดยนำมาทำกิจการอื่นๆที่เกิดประโยชน์มากกว่า เช่น รีสอร์ท แหล่งชุมชน เหมืองแร่ ด้วยการปรับให้เป็นพื้นที่เช่า นำเงินเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ด้วยกาลเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ นับแต่ประกาศใช้ “พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม” เมื่อปี 2518 จนถึงปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ดิน วิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม และเกษตรกรได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

การใช้ประโยชน์ในที่ดินและสภาพดินในเขตปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมก็ไม่เหมือนในยุคอดีต ประ กอบกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงเป็นโอกาสดีที่สำนักงานส.ป.ก.จะได้ยกเครื่องหรือสังคายนากฎหมาย     ส.ป.ก. 2518 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนไป

กระทั่งได้ข้อสรุปที่นำมาเขียนไว้ใน “ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม” เพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ดินในความรับผิดชอบของส.ป.ก.ทั้งระบบ ผู้กองนัสเมื่อครั้งเป็นรมช.ก็ได้เร่งรัดให้ส.ป.ก.ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อจะได้เสนอร่างพ.ร.บ.ต่อรัฐสภาพิจารณาและผ่านออกมาเป็นกฏหมายใช้บังคับต่อไป

อีก 3 หน่วยงาน ที่อดีตรมช.ธรรมนัสเคยกำกับดูแล สร้างเนื้องานเอาไว้เป็นรูปธรรม และรัฐมนตรี ว่าการเฉลิมชัยรับไม้ต่อ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน เนื้องานที่ว่านี้ก็คือ โครงการสร้างบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำโซลาเซลล์เพื่อการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ครั้งที่ 3) จำนวน 30 โครงการ ปูพรมพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบด้วย แพร่ น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เชียงใหม่ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ลพบุรี เพชรบุรี และกำแพงเพชร

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เนื้องานที่ทำไว้ เช่น ปฏิบัติภารกิจทำฝน และช่วยเหลือประชาชนในหลายๆด้าน การเติมน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อย แก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สร้างกำลังพลของกรมฝนหลวงใหม่ และมีแผนจัดซื้ออากาศยานเข้ามาทดแทนที่เสื่อมสภาพ เป็นต้น

ส่วนอ.ต.ก.นั้น สามารถชำระหนี้และลดการขาดทุนได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังจัดระเบียบสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เช่าแผงค้า พร้อมกับออกมาตรการป้องกันมาเฟียหาประโยชน์จากการคุมตลาด

การขับเคลื่อนงานต่อทั้ง 4 กรม  ในภาวะที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่แต่งตั้งใครมารดำรงตำแหน่งรมช.แทนร.อ.ธรรมนัสนั้น เฉลิมชัยน่าจะดำเนินการไปได้ด้วยดี

ยี่ห้อ“เฉลิมชัย”ที่รั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และด้วยอุปนิสัยที่ไม่ใช่คนคิดเล็กคิดน้อย  ประเภทขี้อิจฉาเพียงเพราะอยู่ต่างพรรคกัน

ความเป็นผู้ใหญ่ในฐานะเจ้ากระทรวงฯซึ่งถือเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง  จึงรับประกันได้ว่า  งานที่อดีตรมช.ธรรมนัสริเริ่มและทำไว้ในสิ่งที่ดีๆจะได้รับการสานต่อและผลักดันให้เกิดความสำเร็จอย่างแน่นอน