กระทรวงแรงงานห่วงใยลูกจ้าง โรงงานเส้นหมี่ ตราพระอาทิตย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

            นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีเหตุเตาบอยเลอร์สำหรับต้มน้ำเพื่อใช้ไอน้ำนึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยวระเบิด ณ โรงงานเส้นหมี่ ตราพระอาทิตย์ เลขที่ตั้ง 5/1 ม.9 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีลูกจ้างจำนวน 28 ราย เป็นชาวกัมพูชา 13 คน ชาวเมียนมา 6 คน และคนไทย  9 คน ตนเองรู้สึกไม่สบายใจกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ชื่อ นายทองแก้ว อายุ  25 ปี ชาวกัมพูชาสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากเตาบอยเล่อร์เกิดระเบิดทำให้ช่วงท้ายของเตาฉีกขาดพุ่งออกจากจุดติดตั้งชนลูกจ้างจนเสียชีวิตทันที ณ จุดเกิดเหตุ และมีลูกจ้างบาดเจ็บอีก 1 ราย จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากเหตุเตาบอยเลอร์สำหรับต้มน้ำระเบิดนี้จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยในเบื้องต้นพนักงานตรวจความปลอดภัย  ในการทำงานและพนักงานตรวจแรงงาน ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดูแลในเรื่องสภาพความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งกำชับให้คุ้มครองดูแลผลกระทบต่อลูกจ้างที่อาจต้องหยุดการทำงานชั่วคราวหรือถูกเลิกจ้าง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ถูกต้องตามกฎหมาย สำนักงานประกันสังคมให้ดูแลในเรื่องสิทธิประโยนช์ของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนให้ได้รับสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต และได้รับการรักษาพยาบาลสำหรับผู้บาดเจ็บ กรมการจัดหางานให้ดูแลหาตำแหน่งงานรองรับกรณีหากสถานประกอบกิจการไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป   ให้ลูกจ้างได้มีงานทำอย่างต่อเนื่อง

            นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมามีอุบัติเหตุในสถานประกอบกิจการเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ในสถานประกอบกิจการ ตรวจสอบเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกปี หากพบว่าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมทั้งปิดเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบต่าง ๆ ที่ไม่ได้ทำงานให้เรียบร้อย เพื่อจะได้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้และจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 10 เข้าตรวจสอบเบื้องต้น พร้อมทั้งเชิญนายจ้างเข้าพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งนายจ้างพร้อมเข้าพบในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 โดยจะสอบข้อเท็จจริงว่าสถานประกอบกิจการได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินคดีต่อไป พร้อมทั้งดูแลสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้