การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำให้ทั่วโลกตระหนักถึงบทบาทของมาตรการรักษาสุขอนามัยอย่างเช่นการล้างมือ ที่มีต่อการป้องกันการติดเชื้อ

ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง การล้างมือเป็นวิธีที่ประหยัดและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดการติดเชื้อทั่วไปได้ถึง 50% อย่างไรก็ดี ผลวิจัยของ University College London แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการล้างมือเริ่มลดลง โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าผู้ใหญ่ 44% ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ ลดลงจาก 55% ณ สิ้นปี 2563

สถานที่ที่มีการรวมตัวกัน เช่น โรงเรียน มีโอกาสสูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ แต่โรงเรียนจำนวนมากกลับประสบความล้มเหลวในการสอนให้เด็ก ๆ รับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาสุขอนามัยในการป้องกันการเจ็บป่วย ผลสำรวจของ Global Hygiene Council ได้ตอกย้ำความจำเป็นของการยกระดับการให้ความรู้เรื่องการล้างมือในหมู่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยระบุว่าเด็กประถม 40% ไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ และ 47% เข้าใจผิดว่ามือที่ดูสะอาดคือมือที่ไม่มีเชื้อโรค

ผลวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ทางวารสาร BMC Public Health ตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้าไปให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยในโรงเรียนประถม เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการล้างมือและลดการแพร่เชื้อ

Kelly Schmidtke จาก Warwick Medical School ผู้เขียนรายงานการวิจัย กล่าวว่า "การเข้าไปให้ความรู้จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้น พร้อมกับสร้างเสริมพฤติกรรมในระยะยาว โดยการยกระดับการให้ความรู้และการปลูกฝังพฤติกรรมการล้างมือให้กับเด็ก ๆ จะช่วยลดอัตราการขาดเรียนรวมถึงอัตราการลาหยุดงานของพ่อแม่และครู"

บรรดาหน่วยงานด้านสุขภาพต่างเตือนภัยไวรัส "สามประสาน" ที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดในหมู่เด็ก ๆ ในช่วงนี้ ได้แก่ โควิด-19, ไข้หวัด และไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมพฤติกรรมการล้างมือให้มากขึ้น เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

โครงการ Banega Swachh India ของบริษัท Reckitt คือตัวอย่างความสำเร็จของการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยในโรงเรียน โดยโครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2557 และได้ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยที่สำคัญแก่เด็ก ๆ กว่า 20 ล้านคนในอินเดีย

นอกจากนี้ ผลวิจัยจาก Warwick Medical School ยังช่วยให้ Reckitt สามารถริเริ่มโครงการใหม่ระดับโลก The Hygiene Quest เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขอนามัยผ่านหลักสูตรที่สนุกสนานในโรงเรียน โดยมีเป้าหมายในการให้ความรู้และยกระดับสุขภาพของเด็ก ๆ และครอบครัว

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออีกหลายครั้งไปจนถึงปี 2573 ดังนั้น การยกระดับการให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยในโรงเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อปกป้องสุขภาพของคนรุ่นต่อไปในอนาคต