องค์กรพิทักษ์สัตว์ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เปิดตัวป้ายบิลบอร์ดด้านหน้าอาคารบริเวณทางด่วนศรีรัชในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรถยนต์เกือบ 200,000 คันผ่านทุกวัน รณรงค์ให้แมคโดนัลด์ประกาศใช้นโยบายเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงตับ ซึ่งเป็นระบบที่แม่ไก่ถูกขังรวมกันในพื้นที่เล็กๆ และแทบไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ การใช้กรงตับถือเป็นหนึ่งในการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อสัตว์มากที่สุดในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ บริษัทข้ามชาติกว่า 30 แห่งได้สั่งห้ามการใช้กรงตับในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกแล้ว
การรณรงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้บริโภคที่ริเริ่มโดย ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ในปี 2019 (www.mcthai.org) องค์กรพิทักษ์สัตว์ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เผยว่า ถึงแม้แมคโดนัลด์จะมีนโยบายใช้ไข่ไก่ปลอดกรงในทวีปอเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา ประเทศนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย แต่กลับไม่มีการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในทวีปเอเชีย “เป็นเรื่องน่ากังวลที่บริษัทนานาชาติอย่างแมคโดนัลด์ไม่ขยายนโยบายที่สำคัญด้านสวัสดิภาพสัตว์สู่ตลาดทวีปเอเชีย” สิริญาดา จงชูวณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ของ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ในประเทศไทยกล่าว
กรงตับ: ความโหดร้ายต่อสัตว์และความกังวลด้านสาธารณสุข
กรงตับเป็นระบบการผลิตไข่ในอุตสาหกรรมไข่ไก่ที่เลี้ยงไก่หลายตัวไว้ในกรงลวดขนาดเล็ก ไก่แต่ละตัวใช้ชีวิตในพื้นที่ขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 และไม่สามารถเดินได้อย่างเป็นอิสระหรือแม้แต่กางปีกออกจนสุด เมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย แม่ไก่จึงทรมานจากโรคกระดูกและกระดูกหัก
กรงตับยังเป็นภัยด้านสาธารณสุขอีกด้วย การศึกษาการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับปัญหานี้โดยหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) ได้ข้อสรุปว่า ฟาร์มที่ใช้กรงตับมีเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลาสูงกว่าระบบฟาร์มที่เลี้ยงแบบปลอดกรง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เผยว่า "เชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ที่ไม่ใช่ไทฟอยด์ ทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลัน 93.8 ล้านรายทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 155,000 รายในแต่ละปี กว่าร้อยละ 85 ของการเกิดโรคดังกล่าวคาดว่าจะมาจากอาหาร"
เนื่องจากความกังวลด้านสวัสดิภาพและสาธารณสุข หลายประเทศได้มีการห้ามใช้กรงตับ รวมถึงสหภาพยุโรป แต่ประเทศไทย ซึ่งมีแม่ไก่ประมาณ 60 ล้านตัวในอุตสาหกรรมไข่ไก่ ยังไม่มีกฎห้ามใช้กรงตับ
ฟาสต์ฟู้ดหลายเจ้ากำลังพัฒนาที่จะเปลี่ยน
ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยัม! แบรนด์ส เจ้าของ พิซซ่า ฮัท เคเอฟซี และ ทาโก้ เบลล์ หนึ่งในผู้ประกอบการฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ประกาศนโยบายเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงขังในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงสาขาในทวีปเอเชียด้วย ก่อนหน้านี้บริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น เบอร์เกอร์ คิง และ ซับเวย์ ก็ได้ปฏิเสธการใช้กรงตับในประเทศไทย
“บริษัทฟาสต์ฟู้ดใหญ่ๆ หลายรายประกาศเลิกใช้กรงตับแล้ว เราหวังว่าแมคโดนัลด์จะทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับสัตว์และความปลอดภัยด้านอาหารโดยการปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรม” สิริญาดากล่าว
แคมเปญนี้เป็นการรณรงค์ออนไลน์ที่มีผู้สนับสนุนกว่า 30,000 คนจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ผู้บริโภคที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถเข้าไปที่ www.mcthai.org
เกี่ยวกับ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล
ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากลที่ปฏิบัติงานในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และส่งเสริมทางเลือกอาหารที่มีความเห็นอกเห็นใจสัตว์มากขึ้น เราได้รับการประเมินจาก Animal Charity Evaluators (ACE) ให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก