รมว.สุชาติ ชี้แจงกรณีลูกจ้างบริลเลียนท์ฯ จำนวน 200 คน รวมตัวมาติดตามผลการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณกลางมาช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมยืนยันเร่งช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้อย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานหารือกับผู้แทนลูกจ้างสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุเทพ ชินวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรณีลูกจ้าง บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด จำนวน 200 คน เดินทางมาร่วมชุมนุมบริเวณถนนพิษณุโลกและเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยืนหนังสือติดตามผลการดำเนินการการช่วยเหลือลูกจ้าง ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณงบกลางมาจ่ายให้ลูกจ้าง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยลูกจ้างทุกกลุ่มและกำชับมายังกระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอชี้แจงว่า กรณีลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ฯ ยื่นข้อเรียกร้องให้นำงบประมาณกลางมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง สำนักงบประมาณแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจได้พูดคุยหาแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกจ้างต่อไปโดยมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับผิดชอบดำเนินการ ดังนี้ 1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาการนำเงินมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง 2. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีขอให้นำเงินภาษีจำนวน 31 ล้านบาทที่บริษัทได้คืนจากกรมสรรพากรมาจ่ายให้กับลูกจ้าง 3. นำเสนอคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพิจารณาแก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อขยายอัตราการจ่ายเงินกองทุนฯ ให้แก่ลูกจ้างเพิ่มอีก 21 ล้านบาท โดยเชิญผู้แทนลูกจ้างที่แต่งตั้งเป็นคณะทำงานหารือร่วมกันก่อนนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564 4. ดำเนินการหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอแนวทางการติดตามตัวนายจ้างบริษัทบริลเลียนท์ฯมาดำเนินคดี 5. การสืบทรัพย์และยึดทรัพย์ของนายจ้างให้มีหนังสือประสานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้าง ได้แก่ กรมสรรพากร และจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งกระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าได้ดูแลลูกจ้างบริษัทบริลเลียนท์ฯ อย่างเต็มที่ เพราะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว
นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรมขอชี้แจงผลการดำเนินงานดังนี้ 1. กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน กรมฯได้ดำเนินคดีอาญา คดีแพ่งนายจ้าง และได้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างแล้ว 2. กรณีนายจ้างเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอแนวทางกำหนดมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว เช่น การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีนายจ้างเลิกกิจการเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง เป็นต้น ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือกรมจะเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตัวนายจ้างนำเงินมาชดใช้แก่ลูกจ้างรวมทั้งการรับโทษตามกฎหมาย และจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างตามข้อสั่งการของท่านรมว.สุชาติ โดยเร็วที่สุด
ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไทย
PR.News Thailand