กระทรวงแรงงานบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์อุทกภัย หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างมีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราวหรือต้องเลิกกิจการ ซึ่งส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้าง โดยนายจ้างบางรายประสบปัญหาทางเศรษฐกิจไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างได้ตามกฎหมาย เรื่องดังกล่าว พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและกำชับให้ดูแลลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบกรณีมีการเลิกจ้างให้คุ้มครองสิทธิของลูกจ้างอย่างเต็มที่ หากนายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือผลกระทบจากการประสบอุทกภัย หรือกรณีเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิได้กระทำผิด และไม่จ่ายเงินชดเชยหรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต้องชี้แจงให้ลูกจ้างทราบว่า ลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้าง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงสิทธิการขอรับเงินสงเคราะห์อย่างทั่วถึง
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นกลไกที่กระทรวงแรงงานจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิได้กระทำผิด และไม่จ่ายเงินชดเชยหรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้อนุมัติจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างแล้ว จำนวน 5,381 คน เป็นเงินกว่า 80.373 ล้านบาท ทั้งนี้หากลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชยหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3