สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส เปิดฝึกยกระดับฝีมือโครงการพัฒนาทักษะแรงงานสร้างอาชีพสู่ชุมชนเข้มแข็งวิถีใหม่ภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดนราธิวาส สาขาการทำผลิตภัณฑ์จากไม้ ให้กับช่างไม้ที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับเครื่องมือทำมาหากินภายใต้โครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2562 – 2564 จำนวน 60 คน (เปิดฝึกพร้อมกัน 3 รุ่นๆ ละ 20 คน) ระหว่างวันที่ 14 – 18 ตุลาคม 2564 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ศาลาอเนกประสงค์บ้านน้ำตก หมู่ที่ 5 ต.สุคิริน อ.สุคิริน ศาลาอเนกประสงค์บ้านกรือซอ หมู่ที่ 4 ต.แว้ง อ.แว้ง และศาลาอเนกประสงค์บ้านตลิ่งสูง หมู่ที่ 9 ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส เปิดเผยว่า หลักสูตรฝึกยกระดับฝีมือสาขา การทำผลิตภัณฑ์จากไม้ มีระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง (5 วัน) มุ่งเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก กล่าวคือ หลักสูตรได้แบ่งเป็นภาคปฏิบัติ 23 ชั่วโมง ขณะที่ ภาคทฤษฎีมีเพียง 7 ชั่วโมงเท่านั้น เนื้อหาหลักสูตรเน้นความปลอดภัยในการทำงานและนิสัยอุตสาหกรรมในการปฏิบัติงานให้เป็นที่ประทับใจของลูกค้า ทั้งด้านวินัยในการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต มนุษย์สัมพันธ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความขยันอดทน การตรงต่อเวลา และการมีมารยาทในสังคม เน้นการให้ผู้รับการฝึกมีความรู้ในการเลือกซื้อเครื่องมืองานช่างเครื่องเรือนไม้ การจัดสถานที่ให้เหมาะสมในการทำงาน การดูแลและบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้การปฏิบัติงาน การอ่านแบบและเขียนแบบเครื่องเรือนไม้ เทคนิคการต่อไม้ การเข้าไม้ เข้าเดือย และทำงานตามแบบอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติการทำชั้นไม้โปร่ง เก้าอี้ไม้ และโต๊ะไม้อย่างประณีตสวยงามที่แข็งแรง และปลอดภัย รวมถึง วิธีการประมาณราคาแบบต่างๆ การถอดรายการวัสดุ การประมาณราคาวัสดุตามหน่วยการขาย ต้นทุนกำไร และการประมาณเวลาในการผลิตชิ้นงาน โดยผู้รับการฝึกต้องผ่านการวัดผลสัมฤทธิ์ ด้วยการทดสอบการประกอบ และขึ้นชิ้นผลงานจากแบบที่กำหนดอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส จะร่วมกับวิทยากรผู้สอน ดำเนินการคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะฝีมือดีในแต่ละรุ่น เข้ารับการฝึกยกระดับฝีมือต่อยอดเพิ่มเติม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 ที่ได้กำหนดความรู้ ทักษะฝีมือ และความสามารถให้ช่างเครื่องเรือนไม้ต้องมีความสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือพื้นฐานของงานเครื่องเรือนไม้ด้วยความปลอดภัย สามารถดูแบบ รูปแปลนในเรื่องขนาดและระยะของแบบเบื้องต้น สามารถเพลาะโครงงานไม้เครื่องเรือนได้ สามารถประกอบชั้นปรับระดับได้เบื้องต้น (เช่น ทำชั้นโปร่ง โต๊ะข้าง ม้านั่ง เป็นต้น) เพื่อสร้าง “ช่างเครื่องเรือนไม้คุณภาพ” เข้าสู่ระบบการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไม้จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งการประกอบธุรกิจเครื่องเรือนไม้ในรูปแบบผู้ประกอบกิจการรายย่อยในชุมชน และการเป็นแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยผู้ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าว จะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอัตราละ 370 บาท (ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดนราธิวาสที่กำหนดไว้เพียงอัตราวันละ 313 บาท เท่านั้น) อันจะส่งผลในภาพรวม เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับช่างไม้ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ ตอบสนองกับแนวทางการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจังหวัดนราธิวาส ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เริ่มคลี่คลาย