รมว.แรงงาน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมหารือผู้ดูแลให้เกิดความร่วมมือทั้งสองฝ่าย มุ่งปรับปรุงให้เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลด้านแรงงานที่มีคุณค่าในสังคมไทย

    วันที่ 11 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยตั้งอยู่บนถนนนิคมรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังบรรยายประวัติและภารกิจทางประวัติศาสตร์แรงงานไทย ตลอดจนรับฟังปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานห้วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อผลักดันพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงานไทยและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อผู้ใช้แรงงานและสาธารณชน สำหรับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้น ถือเป็นโครงการที่รวบรวมประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่ และการทำงานของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลเอกสารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับแรงงานไทย โดยองค์การแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการด้านแรงงาน นักประวัติศาสตร์ และนักจดหมายเหตุ มีมติร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2534 เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานไทย  ปัจจุบันมีห้องแสดง จำนวน 7 ห้อง ได้แก่ ห้องแสดงที่ 1 แรงงานบังคับ ไพร่-ทาส และการเปิดประเทศ ห้องแสดงที่ 2 กุลีจีน บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานจีน ซึ่งถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกสุดของสังคมไทย ห้องแสดงที่ 3 การปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่งของสังคมไทยกระบวนการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยนั้น ห้องแสดงที่ 4 กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ห้องแสดงที่ 5 จากสงครามโลกถึงสงครามเย็น ห้องแสดงที่ 6 ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกรสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จิตร ภูมิศักดิ์ และห้องแสดงที่ 7 จากยุค 14 ตุลา ถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจ เป็นห้องใหญ่จัดแสดงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแรงงานไทย ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 2516 จนถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจที่คนงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง

     รมว.สุชาติ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะคุณค่าของผู้ใช้แรงงาน คือผู้ที่สร้างชาติ สร้างผลงานให้กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องเชิดชูแรงงานเหล่านี้ที่สามารถช่วยสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศชาติ โดยกิจกรรมใดที่มีคำว่าแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงานจะเข้าไปพัฒนาและดูแลให้ความสำคัญเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดความมั่นคงยั่งยืนต่อไป

     นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จะขอร่วมสานต่อแนวคิดท่านสุชาติ ในการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และสนับสนุนให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ต่อไป