กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึก 19 หลักสูตร เพิ่มทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยี รูปแบบVirtual Classroom Online Training เป้าหมาย 580 คน เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทางด้านอาชีพจากสถานการณ์โควิด-19 

     

 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมหลักสูตรยกระดับฝีมือในรูปแบบ Virtual Classroom Online Training ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางอาชีพจากสถานการณ์โควิด - 19 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์  โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายประทีป ทรงลำยอง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานร่วมเป็นเกียรติในการเปิดฝึกอบรมดังกล่าว โดย นายสุชาติ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมให้แก่แรงงานในหลักสูตรยกระดับฝีมือในรูปแบบ Virtual Classroom Online Training ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางอาชีพจากสถานการณ์โควิด -19 ตามมาตรการเชิงรุกของกระทรวงแรงงานซึ่งมุ่งเน้นยกระดับและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (Up Skills Re Skills และ New Skills) ให้เป็นแรงงานคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

 

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้บริการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามภารกิจซึ่งได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) พัฒนารูปแบบการฝึกอบรมในรูปแบบสื่อสารทางไกล Virtual Classroom Online Training โดยปี 2564 ดำเนินการฝึกอบรมในรูปแบบดังกล่าวแล้ว จำนวน 11,692 คน ทั้งนี้ ได้พัฒนาปรับปรุงรูปแบบการฝึกอบรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยคัดสรรหลักสูตรที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รองรับการประกอบอาชีพในยุคปรกติวิถีใหม่ (New Normal) จากการสำรวจความต้องการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ได้จำแนกออกเป็น จำนวน 19 หลักสูตร ประกอบด้วย การขายสินค้าออนไลน์ การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ 2 มิติ การเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องกลึงอัตโนมัติ CNC 4 แกน mill turn ด้วย mastercam การเขียนโปรแกรมประมวลภาพ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การใช้โปรแกรม Microsoft Excel ขั้นสูง การใช้โปรแกรม Microsoft Excel ในการบริหารสินค้าคงคลัง การซ่อมสมาร์ตโฟน การทำ Video Content Marketing & Production ด้วย Application บนสมาร์ตโฟน การทำธุรกิจผ่านเครือข่ายออนไลน์ การบริหารจัดการตลาดออนไลน์ (E-commerce) การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ตโฟน การพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในงานแอปพลิเคชันประมวลผลด้วยภาษา Python การสร้างการบริหารให้ประทับใจ การออกแบบและตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop และ Illustrator การออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยคอมพิวเตอร์ คาราคุริ ไคเซ็น เทคนิคการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ เทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว

    

 ทั้งนี้ ดำเนินการฝึกโดยหน่วยงานในสังกัด กพร. ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ใน 21 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร เชียงใหม่ ตราด นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช  นครสวรรค์ ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ภูเก็ต ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษสระแก้ว อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี โดยฝึกอบรมระหว่างวันที่ 27 – 30 กันยายน 2564 ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 953 คน  การพัฒนาคุณภาพของการฝึกอบรมในรูปแบบ Virtual Classroom Online Training ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเรียนรู้ และเกิดทักษะใหม่แก่แรงงานมากขึ้น ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้เน้นทักษะการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การสร้าง Content ใช้ทักษะทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมและบริการ 4.0 ซึ่งนับเป็นทักษะการทางานในอนาคต รวมถึงการนาข้อมูล Big Data มาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ นอกจากหลักสูตรดังกล่าว ในปี 2565 กพร.ยังมีหลักสูตรด้านอื่นๆ ที่บริการฝึกอบรมให้แก่แรงงานที่สนใจอีกมากมาย สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หัวข้อกำหนดการฝึกอบรม หรือ ติดต่อที่หน่วยงาน สพร.และ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ