ก.แรงงาน ร่วมกับ บ.บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดฝึกอบรมหลักสูตรการสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชัน รุ่นที่ 2 ยกระดับทักษะแรงงานสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่มีค่าใช้จ่าย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กำหนด จัดฝึกอบรมยกระดับฝีมือ หลักสูตร “การสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชัน รุ่นที่ 2” ฝึกอบรมผ่าน ห้องฝึกออนไลน์โดยลงทะเบียนเข้าฝึกอบรมด้วยระบบ HiCLC ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ฝึกอบรมตามหลักสูตรภายในระยะเวลา 2 เดือน ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 24 พฤศจิกายน 2564 ให้แก่แรงงานในสถานประกอบกิจการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักศึกษา กลุ่มเปราะบาง และผู้สนใจ ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์ภาษาจาวา จำนวน 1,000 คน เพื่อพัฒนาให้มีทักษะสูงขึ้นสามารถเขียนแอปพลิเคชันรองรับการใช้งานได้หลากหลาย ต่อยอดเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชันมืออาชีพ สร้างโอกาสในการทำงานและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลของประเทศ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแรงงานที่มีทักษะแห่งอนาคต (future skills) ที่จะมารองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยกระทรวงแรงงาน มีพันธกิจในการยกระดับทักษะของแรงงานดิจิทัลให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน หลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหัวข้อการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้จะช่วยสร้างโอกาสในการทำงาน ใหม่ๆ ในยุคนิวนอร์มอลให้แก่ผู้เข้าอบรม ขอขอบคุณหัวเว่ย ประเทศไทย สำหรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เสมอมา ร่วมนำนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญมาช่วยเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เราจะช่วยกันพัฒนาให้แรงงานไทยมีทักษะขั้นสูงที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศในยุคดิจิทัล
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เปิดตัวหลักสูตร “การสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชัน รุ่นที่ 2” ร่วมกับ กพร.ยครั้งนี้เราตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรจำนวน 800 ถึง 1,000 คน เมื่อผู้เข้ารับการฝึกผ่านการฝึกอบรมแล้วจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักพัฒนาแอปของหัวเว่ยซึ่งมีสมาชิกกว่า 2.3 ล้านคนด้วย
“หลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้กำลังแรงงานมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่สูงขึ้น ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับวุฒิบัตรจากกพร. เป็นเครื่องการันตีความสามารถ รวมถึงหากผ่านเกณฑ์การทดสอบก็จะได้ใบรับรองจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นการรับรองมาตรฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประกอบอาชีพในสาขาดังกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจ” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย