Nanfang Media Group รายงานว่า องค์การบริหารเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-มาเก๊าได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยเป็นความพยายามที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการดึงเขตบริหารพิเศษ (SAR) มาเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมดูแลพื้นที่ในจีนแผ่นดินใหญ่

สิ่งนี้เป็นไปตามแผนของจีนในการพัฒนาเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-มาเก๊าในเกาะเหิงฉิน และยกระดับเขตความร่วมมือเซินเจิ้น-ฮ่องกงในย่านเฉียนไห่ ซึ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ 5 และ 6 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้พัฒนาฮ่องกงและมาเก๊าได้มากขึ้น

ระบบใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนากวางตุ้ง-มาเก๊าแบบบูรณาการ

เกาะเหิงฉินตั้งอยู่ที่เมืองจูไห่ของมณฑลกวางตุ้ง ห่างจากมาเก๊าไม่มาก ครอบคลุมพื้นที่ 106 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่ามาเก๊าประมาณ 3 เท่าตัว

พื้นที่ดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจมาเก๊า อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้การพัฒนาเขตเหิงฉินหลัก ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองจูไห่ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายคือการสนับสนุนมาเก๊า

ภายใต้แผนการดังกล่าว คณะกรรมการจัดการซึ่งนำโดยประธานบริหารของมาเก๊าและผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง จะร่วมกันตัดสินใจในประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งในเรื่องการวางแผน นโยบาย โครงการ และบุคลากร ขณะที่คณะกรรมการบริหารจะดูแลเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ที่อยู่ในเขตนี้

เริ่มตั้งแต่วันศุกร์เป็นต้นไป เจ้าของยานพาหนะในมาเก๊าที่ต้องการขับไปเกาะเหิงฉิน จะสมัครทำใบอนุญาตขับขี่ที่มาเก๊าได้เลย โดยองค์กรบางแห่งได้รับใบอนุญาตในการทำธุรกิจล็อตแรกไปแล้ว ขณะที่แพทย์จากฮ่องกงและมาเก๊ากลุ่มหนึ่งได้รับใบรับรองให้ทำงานในเขตดังกล่าวแล้ว

"โมเดลใหม่นี้จะผลักดันให้มาเก๊ามีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าของเกาะเหิงฉินมากขึ้น" Wang Fuqiang จากศูนย์การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน กล่าว "และยังสร้างสภาพแวดล้อมแบบบูรณาการที่เหมาะกับธุรกิจมาเก๊ามากขึ้น และเอื้ออำนวยต่อชาวมาเก๊ามากขึ้น"

นอกจากนี้ แผนส่งเสริมเหิงฉินยังจะให้ความสำคัญกับสุขภาพ การเงินสมัยใหม่ เทคโนโลยีขั้นสูง การจัดแสดงสินค้าและการซื้อขาย ไปจนถึงวัฒนธรรมและกีฬา อุตสาหกรรมและองค์กรที่มีคุณสมบัติในเขตดังกล่าวจะมีสิทธิลดภาษี โดยจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 15%

"เขตความร่วมมือดังกล่าวจะยังคงรักษาความโดดเด่นของมาเก๊าเอาไว้ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่น เช่น การแพทย์แผนจีน (TCM) การท่องเที่ยวและการประชุม" Guo Wanda รองประธานบริหารสถาบันพัฒนาจีน กล่าว "แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อทำให้เศรษฐกิจมาเก๊ามีความหลากหลายมากขึ้น จากที่แต่เดิมพึ่งพาอุตสาหกรรมการพนันมากเกินไปและเสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก"

Guo Wanda ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยในมาเก๊าและห้องปฏิบัติการหลัก ๆ ของมาเก๊า ได้มีการวิจัยในสาขาต่าง ๆ มากมาย ทั้งวงจรรวม วัสดุใหม่ และชีวเวชภัณฑ์

คุณ Guo กล่าวว่า "แม้อุตสาหกรรมของมาเก๊าเหล่านี้ไม่ได้มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันมากเสมอไป แต่ก็เป็นแหล่งกระตุ้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการผลิตขั้นสูงได้ ผ่านความร่วมมือกับเมืองอื่น ๆ ในโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า"

ย่านเฉียนไห่ขยายขอบเขตเพื่อรับมือปัญหาทางเศรษฐกิจของฮ่องกง

แผนการพัฒนาย่านเฉียนไห่ระบุว่า เขตความร่วมมือเซินเจิ้น-ฮ่องกงจะขยายตัวถึง 8 เท่าตัว จากปัจจุบัน 14.92 ตารางกิโลเมตร เป็น 120.56 ตารางกิโลเมตร นับเป็นโอกาสสำหรับฮ่องกงในการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากการที่มีพื้นที่จำกัด

ข้อมูลทางสถิติเผยให้เห็นว่า ย่านเฉียนไห่มีบริษัททุนฮ่องกงทั้งสิ้น 11,500 แห่ง โดยย่านเฉียนไห่ตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้นติดกับฮ่องกง ซึ่งจนถึงวันนี้มีการลงทุนในย่านเฉียนไห่รวมกันถึง 2.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

"ผู้ให้บริการสมัยใหม่จำนวนมากในฮ่องกงเลือกบุกตลาดจีนผ่านย่านเฉียนไห่ แต่ความต้องการนั้นยังห่างจากคำว่าสมหวังอยู่มาก" Cong Liang รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กล่าว "การพัฒนาย่านเฉียนไห่ไม่ได้เป็นการเพิ่มพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มสาขาใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ความโดดเด่นของฮ่องกงเด่นชัดขึ้น"

Qin Weizhong นายกเทศมนตรีเมืองเซินเจิ้น เพิ่มเติมว่า ทางเมืองเซินเจิ้นพร้อมนำพื้นที่อุตสาหกรรมที่เพิ่งรับโอนมาใหม่เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ไปรองรับความต้องการของบริษัททุนฮ่องกง

Allan Zeman ประธานกลุ่มบริษัท LanKwai Fong Group ของฮ่องกงซึ่งทำธุรกิจหลายภาคส่วน กล่าวว่า "เรากล้าพูดว่า รัฐบาลกลางให้ความสำคัญกับการพัฒนาฮ่องกงและมาเก๊าผ่านแผนการเหล่านี้"

เขากล่าวว่า "แผนการเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า พร้อมเปิดโอกาสให้คนวัยหนุ่มสาวมีงานทำกันมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราควรยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และเมืองต่าง ๆ ในโครงการอ่าว"

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1629574/1.jpg