กรมการพัฒนาชุมชน กำหนดดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การ พัฒนา(Quadrant D)ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประเภทอาหารและประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 791 ผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดประเทศ และต่างประเทศ

โดยกิจกรรมภายในโครงการฯ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมย่อยที่ 1 จัดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการในระบบออนไลน์ กิจกรรมย่อยที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) และ กิจกรรมย่อยที่ 3 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมทดสอบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ในส่วนของกิจกรรมจัดอบรมฯ นั้น กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ค้นหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิเคราะห์ศักยภาพและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์พัฒนาบรรจุภัณฑ์และฉลากที่ทันสมัยสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ

ซึ่งกิจกรรมนี้ ยังจัดทำสื่อการเรียนรู้ทั้งการจัดทำ สื่อการเรียนการสอน เช่น คลิปวีดีโอ, E-book เป็นต้น และจัดทำเอกสารจัดส่งให้กลุ่มเป้าหมายเพื่อประกอบการประชุมออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ค้นหาสภาพปัญหา จุดอ่อน จุดแข็ง ของผลิตภัณฑ์ สอบถามความต้องการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากกลุ่มเป้าหมาย 791 ผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยกลุ่มเป้าหมาย 791 ผลิตภัณฑ์ ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 1.กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เบื้องต้น จำนวน 712 ผลิตภัณฑ์ และ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์โดดเด่นมีโอกาสเข้าสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลาย จำนวน 79 ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ กิจกรรมการอบรมฯ ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 15 -16 กันยายน 2564 โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการอบรมดังกล่าว พร้อมด้วยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเข้าร่วม

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการนี้ นับเป็นการจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP แต่ตนหวังว่า รูปแบบการดำเนินงานโครงการนี้ในรูปแบบใหม่ จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์OTOP ทั้ง 791 ผลิตภัณฑ์ ให้ออกมาโดดเด่น ตรงกับความต้องการของตลาดและมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้รองรับความต้องการแค่ตลาดภายในประเทศ แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถจนเข้าไปแข่งขันบนเวทีโลกได้ ซึ่งจะทำให้เกิดวงจรเศรษฐกิจที่มั่นคงตั้งแต่ฐานราก ชุมชนมีความแข็งแรง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นให้เติบโตในระยะยาว