วันที่ 9 ก.ย. 64 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมประชุม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสนอ 4 เรื่องให้ ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. แทนตำแหน่งที่ว่างลง การแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่ออนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (พ.ศ.2565-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ (พ.ศ.2564-2570)
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงาน ประสานนโยบายแผนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการฝึกอาชีพของ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน ขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง รวมถึงติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เป็นกลไกระดับจังหวัดในการขับเคลื่อนติดตามและดำเนินงานตามแผนการพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่จังหวัด
การประชุมในวันนี้ นอกจากเรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอแล้ว กพร. ได้รายงานถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงคำสั่งให้เป็นปัจจุบัน เพิ่มองค์ประกอบของ กพร.ปช. และปรับปรุงอำนาจหน้าที่แล้ว
การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ขณะนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการบินและ โลจิสติกส์จัดทำแผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแล้วเสร็จ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น อยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างแผนผังตำแหน่งงานและแนวโน้มการจ้างงานใน แต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบการระดมความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ สรุปการจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ให้กลไกตลาดทุน เกื้อหนุนผู้พิการ สร้างงานสร้างอาชีพ” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบไมโครซอฟท์ทีม และถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ค ของ กลต. กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้แทนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ องค์กร สมาคมคนพิการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 524 คน โดยมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สนใจทำ CSR ด้านคนพิการ จำนวน 75 แห่ง ซึ่ง กพร. จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่อไป และการสนับสนุนซิมการ์ดพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์ 500 ซิม จาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดพิธีแถลงข่าวและรับมอบซิมการ์ด จำนวน 500 ชุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย กพร. ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ดำเนินการแจกจ่ายซิมการ์ดให้แก่กลุ่มแรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบางเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ยกระดับศักยภาพด้านดิจิทัล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
และการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผลการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ประจำปี 2564 กระทรวงแรงงานเป้าหมาย 72,150 แห่ง ผลการสำรวจแล้ว 22,370 แห่ง และการเตรียมรองรับการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 อีกด้วย
“คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีองค์ประกอบมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันบูรณาการและวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ให้แรงงานไทยสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย