ในวันที่ 3 กันยายน 2564 รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้เกียรติเป็นประธานเปิด "โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการพึ่งตนเองสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม" กล่าวรายงานโดย ผศ.ดร.กัมปนาท บริบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตลอดชีวิต มศว เพื่อศึกษาองค์ประกอบและกลไกในการขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเอง ผ่านการเป็นกิจการเพื่อสังคม และพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และมีเจตคติในการอยู่ร่วมกันที่ดีในสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุ สู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม โดยการพัฒนาการหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการทางสังคมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุต่อไป

รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล กล่าวว่า โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการพึ่งตนเองสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม เป็นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ One Day Learning ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคนไทย และ การพัฒนารูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งมีความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ พัฒนากลไก และ พัฒนาหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และมีเจตคติในการอยู่ร่วมกันที่ดีในสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เป็นการสร้างองค์ความรู้ในการส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุและพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม อีกทั้ง ยังเตรียมพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างแกนนำในพื้นที่ให้สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมและสามารถพึ่งพาตนเอง ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อการขยายผลการดำเนินงานให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่มีทักษะสำหรับสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคมโดยการเสริมสร้างและเติมพลังสู่ผู้สูงอายุได้

ทางด้าน ผศ.ดร.กัมปนาท บริบูรณ์ กล่าวว่า โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นการที่บุคลากรและสมาชิกของโรงเรียนสามารถกำหนด อนาคตของตนเองได้ด้วยตัวของชุมชนท้องถิ่นเอง โดยอยู่บนพื้นฐานความคิด ความเชื่อ และความสามารถของชุมชนท้องถิ่นเอง ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้วางแผน เรียนรู้ สามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความต้องการของตนเอง และเลือกวิธีปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการ โดยที่ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ ในการทำงานโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเอง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเสริมพลังให้กับสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุ ในการมีคุณค่า ได้รับการยกย่อง และมีส่วนร่วมทำประโยชน์ต่อชุมชน ตลอดจนการถ่ายทอดประสบการณ์ภูมิปัญญา และกิจกรรมการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมจากโรงเรียนผู้สูงอายุที่คัดเลือกจาก 8 จังหวัด จังหวัดละ 2 โรงเรียน รวม 16 โรงเรียน โรงเรียนละ 5 คน จำนวน 80 คน และขยายสู่ สมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุและผู้ที่เตรียมเป็นสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุ 960 คน รวมเป็น 1,040 คน เพื่อสำหรับพัฒนาแนวทางการเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเองเพื่อนำไปสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ต่อไป