"ล่องเรือไปตามลมในมหาสมุทรอันไร้ขอบเขต" คือวรรคหนึ่งของบทกวีจีนที่แต่งขึ้นเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว

คำกล่าวโบราณซึ่งมีความหมายว่าไม่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ในการเดินทางไปพบเจอมิตรสหาย ยังคงดังก้องในยุคสมัยใหม่ของจีน

"ผมต้องการพูดให้ชัดเจนว่า ประตูที่เปิดกว้างของจีนนั้นไม่มีวันปิดลง และจะเปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมโป๋อ่าว ฟอรั่ม ฟอร์ เอเชีย เมื่อปี 2561

จากการปฏิรูปและเปิดกว้าง...

การเปลี่ยนแปลงมากมายอันเป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูปและเปิดกว้างในปี 2521 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าที่ว่า การเปิดกว้างเป็นหนทางสู่การเติบโตและความมั่งคั่ง

จีนดำเนินตามนโยบายดังกล่าวและพลิกโฉมจากประเทศเกษตรกรรมสู่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก

จีนมียอดนำเข้าและส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 32.16 ล้านล้านหยวน (ราว 4.647 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2563 ทำสถิติสูงสุดแม้การขนส่งสินค้าทั่วโลกทรุดตัวลง ส่งผลให้จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เพียงประเทศเดียวที่การค้าต่างประเทศยังคงมีการเติบโต

ในปี 2521 การค้าต่างประเทศของจีนมีมูลค่าเพียง 2.06 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น

จีนพยายามอย่างหนักในการดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ด้วยการขยายการเข้าถึงตลาดและยกระดับสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ

ผลสำรวจของกระทรวงพาณิชย์จีนเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า 96.4% ของบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติ มีมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจของตนเองในจีน

นอกจากนี้ จีนยังติดท็อป 10 ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่ประกอบธุรกิจง่ายเป็นปีที่สองติดต่อกัน จากรายงานการศึกษาของธนาคารโลกในปี 2563 อันเป็นผลมาจากนโยบายปฏิรูปอันเข้มแข็งของจีน

ขณะเดียวกัน จีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ 140 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 31 แห่ง ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2556

...สู่การพัฒนารูปแบบใหม่

ขณะที่จีนเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่สู่การสร้างชาติสังคมนิยมที่ทันสมัยผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) การเปิดกว้างยังคงเป็นสิ่งสำคัญภายใต้โรดแมปใหม่ของประเทศ

ภายใต้การพัฒนารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "วงจรคู่" (Dual Circulation) จีนให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าเปิดตลาดตลอด 5 ปีข้างหน้า เพื่อข้ามผ่านภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลมาจากไวรัสโควิด และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

การพัฒนารูปแบบใหม่คือการสร้างความมั่นใจว่าตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเชื่อมถึงกันมากกว่าเดิม ด้วยการปลดล็อกศักยภาพของตลาดในประเทศ

ขณะนี้ ความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน จีนมีเขตการค้าเสรีนำร่อง 21 เขต โดยเพิ่งมีการเปิด 3 เขตใหม่เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ จีนยังลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

https://news.cgtn.com/news/2021-05-31/How-China-sails-together-on-the-boundless-ocean-with-the-world-10GK4NahBPq/index.html

ลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=llVMizO8amM