เกษตรฯ ร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานเกลือทะเลไทย สร้างความมั่นใจผู้บริโภค


นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวถึง การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานเกลือทะเลของประเทศไทยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการยกระดับ แล้วจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อยกระดับการผลิตเกลือทะเลของไทยให้มีคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นในระบบการผลิตเกลือทะเลของประเทศไทยสู่สากล


ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 84,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่มากที่สุด ร้อยละ 47 รองลงมาได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยละ 43.1 จังหวัดสมุทรสงคราม ร้อยละ 77 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 1.0 จังหวัดจันทบุรี ร้อยละ 0.6 จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 0.4 จังหวัดฉะเชิงเทราร้อยละ 0.2 (ข้อมูลจากสถาบันเกลือทะเล พ.ศ. 2560-2561) โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตเกลือทะเลประมาณเกือบ 1 ล้านตันเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและมาตรฐาน ต้องมีการดำเนินการอย่างครบวงจร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร จัดเตรียมความพร้อมรองรับการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน ครอบคลุมทุกภาคส่วนแล้ว ประกอบด้วย การพัฒนาต้นแบบการผลิตเกลือทะเลตามมาตรฐาน การพัฒนาพี่เลี้ยง
(ที่ปรึกษาเกษตรกร) และการพัฒนาผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน

นายพิศาลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา มกอช. ได้สร้างความรู้ความเข้าใจการผลิตเกลือตามมาตรฐานให้แก่ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 262 คน พร้อมทั้งยังได้จัดทำจัดโครงการนำร่องการพัฒนาแปลงนาเกลือทะเลต้นแบบตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาและปรับปรุงแปลงนาเกลือทะเลให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐาน เกษตรกรต้นแบบมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ในพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดแล้ว สำหรับการพัฒนาที่ปรึกษาเกษตรกร ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐานเกลือทะเล ให้แก่ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในพื้นที่ผลิตเกลือทะเลจำนวน 42 คน รวมถึงการพัฒนาผู้ตรวจประเมิน ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานเกลือทะเล โดยมีนายชาญยุทธ์ ภานุทัตผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สถาบันเกลือทะเลไทย และ มกอช. ร่วมเป็นคณะทำงาน และได้ร่วมกันจัดทำระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การขอและออกใบรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติ ลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 29 มกราคม 2564 และคู่มือการปฏิบัติงานการตรวจสอบรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP การทำนาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติ ลงนามประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เรียบร้อยแลรวมถึงการจัดอบรม หลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานเกลือทะเล เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจตามข้อกำหนดของมาตรฐาน (มกษ.9055 และ มกษ. 8402) และฝึกทักษะการตรวจประเมิน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนหน่วยตรวจสอบรับรองจากกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และหน่วยรับคำขอฯ จากกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 48 ราย เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมไอธารา รีสอร์ท อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และแปลงนาเกลือต้นแบบ

การดำเนินการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจาก เกษตรกรผู้ผลิต เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีความใกล้ชิดและควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกลือทะเลในแต่ละภูมิภาคข้อจำกัดในเรื่องรอบการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรวางแผนการยื่นขอการรับรองตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สำหรับหน่วยตรวจสอบรับรองอาจต้องมีการวางแผนการตรวจรับรองให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ที่ปรึกษาเกษตรกรควรส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรเห็นมุมมองการตรวจประเมินเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม การรับรองมาตรฐานเกลือ นับว่าเป็นเรื่องใหม่ ในช่วงระยะแรกของอาจทำในรูปแบบการตรวจในเชิงส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงต่อไป “ เลขาธิการ มกอช. กล่าว