หน่วยงานต่าง ๆ ในเมืองกุ้ยหลิน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศจีน ได้เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามการทำเหมืองหินและเหมืองทรายผิดกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้บริเวณเลียบแม่น้ำลี่เจียง เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา

แม่น้ำลี่เจียงได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความงดงามมากที่สุดในโลก โดยทอดยาวกว่า 400 กิโลเมตรผ่านเทือกเขาที่มีภูมิประเทศแบบคาสต์ และดึงดูดผู้มาเยือนหลายแสนคนทุกปี

"พฤติกรรมที่เลวร้ายที่สุดคือการทำเหมืองหิน" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะตรวจเยี่ยมส่วนหนึ่งของแม่น้ำลี่เจียง "ภูเขาลักษณะนี้ เมื่อถูกทำลายแล้วก็จะหายไปตลอดกาล"

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า แม่น้ำสายนี้คือ "สมบัติเพียงหนึ่งเดียว" ของจีนและของโลก ดังนั้นจึงต้องมีการปกป้องสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาไม่ให้ถูกทำลายไป

เขาเตือนว่า ผู้ใดก็ตามที่ยังทำเหมืองหินและเหมืองทรายเลียบแม่น้ำลี่เจียงจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง โดยต้องถูกสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรการต่าง ๆ ในการลดมลพิษรวมถึงปกป้องแม่น้ำและภูเขาเลียบแม่น้ำ ช่วยให้สภาพแวดล้อมบริเวณแม่น้ำลี่เจียงดีขึ้นอย่างมาก ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้มากขึ้น

ในปี 2562 เมืองกุ้ยหลินต้อนรับนักท่องเที่ยว 138 ล้านคน สร้างรายได้ 1.874 แสนล้านหยวน (2.89 หมื่นล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 26.7% และ 34.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2561

จีนเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

เมืองกุ้ยหลินไม่ใช่สถานที่เดียวในประเทศจีนที่ต้องต่อสู้กับพฤติกรรมการทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะทั่วประเทศได้ปราบปรามการทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยามากถึง 23,000 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม1.66 หมื่นล้านหยวน (2.6 พันล้านดอลลาร์) และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้กว่า 40,000 คน จากการแถลงข่าวของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเมื่อช่วงต้นเดือนนี้

ความพยายามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ได้รับการตอกย้ำในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีข้างหน้าและในอนาคต

การรณรงค์ดังกล่าวสอดคล้องกับวลีดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถึงการพัฒนาสีเขียว นั่นคือ "แหล่งน้ำที่ใสสะอาดและเทือกเขาอันเขียวชอุ่มเป็นสมบัติที่ประเมินค่ามิได้"

แนวคิดดังกล่าวผลักดันให้จีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ยกระดับความพยายามในการส่งเสริมการพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยจีนให้คำมั่นบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603

ในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leaders Summit on Climate) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ได้ตอกย้ำคำมั่นสัญญาดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ทั่วโลกสร้างชุมชนร่วมกัน

ไฮไลท์สำคัญจากการตรวจเยี่ยมเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางภาคใต้ของจีน โดยมีเมืองกุ้ยหลินเป็นจุดหมายแรก เขาได้รำลึกถึงวีรชนผู้ล่วงลับในการปฏิวัติประเทศ และเรียนรู้ความก้าวหน้าในการฟื้นชีวิตให้ชนบทเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง ได้เยี่ยมเยือนอนุสรณ์สถานสมรภูมิรบแม่น้ำเซียงเจียง ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทัพทางไกล (Long March) เมื่อช่วงทศวรรษ 2470 โดยผู้นำจีนได้วางกระเช้าดอกไม้เพื่อแสดงความเคารพทหารของกองทัพแดงที่เสียชีวิตในสมรภูมิรบ

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จของการปฏิวัติประเทศจีนคืออุดมคติและความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า พร้อมกับกระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันฟื้นฟูประเทศชาติด้วยจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเช่นเดียวกัน

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

จากนั้นนายสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเหมาจูซาน ซึ่งอุตสาหกรรมองุ่นกำลังเกิดใหม่และเป็นแรงผลักดันการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน

หลังจากขจัดความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) ในพื้นที่ชนบททั่วประเทศได้สำเร็จ จีนก็ได้ดำเนินกลยุทธ์ต่อไปทันที นั่นคือ การฟื้นชีวิตให้ชนบท โดยชาวบ้านในหลายภูมิภาคได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันตามสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง เพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้แก่คนในท้องถิ่น

ลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=1gbf0Ql4TA4