“เขียนยังไง ให้คนยังอ่าน” เปิดประสบการณ์นักเขียนสุดฮอตจากเวที “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด”

          เพราะเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่คอนเทนท์จากแพลตฟอร์มต่างๆ แข่งขันกันแย่งชิงเวลาในชีวิต การอ่านเอง ก็เป็นหนึ่งในสื่อสำคัญที่ถูกแบ่งปันเวลาและความสนใจไปจากเดิมอยู่ไม่น้อย และนำไปสู่คำถามในใจที่ว่าจะ “เขียนยังไง ให้คนยังอ่าน” โดยเฉพาะจากนักเขียนทั้งหลาย ในวันเวลาที่สื่อต่างๆ กำลังถูกดิสรัพเช่นนี้

          บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่น “รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด” มากว่า 18 ปี ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งส่งเสริมการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนทางของการพัฒนาคน นำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ สอดคล้องกับนโยบายของ ซีพี ออลล์ ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษ เปิดคลับเฮาส์ ชวนนักเขียนชื่อดังทั้งสายออฟไลน์อย่าง โตมร ศุขปรีชา, นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา และสายออนไลน์ คือ “หนูแดง” บุญญาณี จงทวีพรมงคล และ Dollarosaka -ธนพร เพชรจรัส มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็น “เขียนยังไง ให้คนยังอ่าน” โดยมีนักเขียนสุดฮอตอย่าง “นิ้วกลม” สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ชวนพูดคุย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ฟังอย่างคับคั่ง

          นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา เจ้าของผลงานแนว Pop Science ที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยากๆ มาเล่าให้น่าสนใจและง่ายขึ้นจนกลายเป็นหนังสือขายดีหลายเล่ม และเคยได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจากเล่ม “เรื่องเล่าจากร่างกาย” บอกว่า สิ่งที่เขาพยายามอยู่ในฐานะนักเขียนตอนนี้นั้น คือการพยายามเข้าใจแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งจะช่วยสามารถบอกได้ในบางส่วนว่าคนอ่านของเขาคือกลุ่มไหน

          “เราอยากรู้มากๆ เลย ว่าคนที่อ่านหนังสือเราเป็นใคร เพราะตอนที่เราเขียนเรานึกภาพไม่ออกหรือว่าจินตนาการว่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ เมื่อก่อนต้องอาศัยเวลาเราไปงานหนังสือ ก็สังเกตว่าใครที่มาซื้อ แต่เมื่อมีสื่อออนไลน์อย่างเช่น Facebook Blog Youtube Podcast เราก็สามารถที่จะดูหลังบ้านได้ว่าคนอ่านของเราคือใคร กลุ่มอายุเท่าไหร่ เพศไหน และใครใช้แพลตฟอร์มไหนก็จะอยู่ประจำตรงนั้นเลย ซึ่งก็ต้องการรูปแบบการนำเสนอคอนเทนท์ที่แตกต่างกันไปด้วย แม้จะเนื้อหาเดียวกันแต่ละสื่อจะมีธรรมชาติของตัวเอง ในแต่ละสื่อเราก็จะต้องไปปรับคอนเทนท์เพื่อให้เหมาะกับการนำเสนออย่างนี้ คือ หนังสือก็มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง เสียงก็มีแบบหนึ่ง วิดีโอก็มีแบบหนึ่ง เราก็พยายามเรียนรู้ที่จะเอาคอนเทนท์จากที่เราเขียนนี้ไปใส่ในแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วก็ปรับให้เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น ที่สุดแล้วหนังสือก็ยังเป็นคอนเทนท์ที่แข็งแรง ปกติเวลาเขียนจะมี 2 ส่วนด้วยกันคือ ในแง่ของการเขียน อยากให้คนอ่านก็คือเรื่องของศิลปะของการเล่าเรื่อง คือไม่ว่าจะเป็นฟอร์มแบบไหนก็ตาม พื้นฐานก็จะมีเรื่องของการเปิดเรื่อง การดึงจุดสนใจ จะมีจุดสนใจอย่างไรให้คนอ่านไปเรื่อยๆ ซึ่งศิลปะพวกนี้มันก็เป็นเหมือนกับฐานไม่ว่าจะใช้ในแพลตฟอร์มไหน ”

ในมุมของคุณหมอนักเขียน จึงมั่นใจว่าการเขียนยังมีคนอ่าน แต่ต้องรู้จักปรับจากหนังสือไปสู่สื่ออื่นๆ ด้วย เป็นการอ่านเจเนอเรชั่นต่อไป

“ผมมีความคิดว่าหนังสือจะไม่ตาย แต่จะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามเจเนอเรชั่น อย่างผมเป็นคนที่อ่าน e-book เยอะมาก เพราะไม่มีที่เก็บหนังสือ เราก็อ่าน e-book จนกระทั่งเราชิน ในคอนเซ็ปต์ที่เป็นหนังสือเล่มคือ ผมมองว่าหนังสือที่เป็นตัวกระดาษมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และจะผสานเข้ากับสื่ออื่นๆ มากขึ้น จะมีในลักษณะของเสียงและภาพ เมื่อถึงตอนนั้นแล้วก็จะพูดยากแล้วว่ายังคงเป็นหนังสืออยู่หรือเปล่า แต่นั่นคือวิวัฒนาการ เพราะคนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่โตขึ้นมา เขาก็จะรู้สึกว่านี่คือหนังสือในเวอร์ชั่นของเขา”

         ด้าน “หนูแดง” บุญญาณี จงทวีพรมงคล นักเขียนออนไลน์สุดฮอตที่แฟนคลับเยอะมากๆ และเขียนหนังสือได้หลากแนวสุดๆ จนสามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อเดือนในสายนิยายออนไลน์ ก็เล่าให้ฟังว่า นักอ่านรุ่นใหม่ๆ ย้ายแพลตฟอร์มในการอ่าน จากหน้ากระดาษไปสู่ออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

       “ต่ e-book ไม่ได้เหมาะกับการเขียนทุกประเภท ขายได้แต่ไม่ได้แปลว่าขายดี กลุ่มที่ขายดีก็คือประเภทนิยายรัก ซึ่งก็แบ่งเป็นซับเซ็ตย่อยๆ อีก ด้วยความที่เราเป็นนักเขียนอาชีพ เวลาจะลงงานเราก็จะมีโมเดลในรูปแบบต่างๆ เขียนไป ลงไป แล้วค่อยออกเล่มทีหลัง หรือเขียนจบก่อนแล้วค่อยไปโพสต์ลงทีละตอน ใครรอไม่ไหวก็ซื้อ e-book ที่เราเปิดพรีออเดอร์ งานของเรามี 2 พาร์ท พาร์ทแรกคือเขียนตามความนิยม ดูกระแสในช่วงนั้นว่างานนิยายไหนกำลังมา แต่การเขียนลักษณะนี้ บางทีพอเขียนไปเรื่อยๆ ก็จะหมดไฟ ก็จะมีพาร์ทที่ 2 คือ เขียนอะไรก็ได้ที่เราอยากจะเขียน และเรื่องที่เราอยากจะเขียนส่วนมากจะมีกระแสตอบรับค่อนข้างดี เพราะว่าบางทีมันเหมือนเป็นความสดใหม่บางอย่าง หรือว่ามีตลาดบางอย่างที่ยังไม่ได้อยู่ในเทรนด์ เหมือนโผล่ขึ้นมากลางเทรนด์ ซึ่งก็จะมีคนอ่านที่เขาเบื่อแบบเดิมๆ และอยากอ่านอะไรใหม่ๆ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย เราก็จะเขียนควบทั้ง 2 อย่างคือทั้งตามกระแส แล้วก็เขียนในสิ่งที่อยากเขียน แต่ในทุกอย่างคือรักษามาตรฐานงานเขียนของตนเองไว้ค่ะ”

        ขณะที่ ธนพร เพชรจรัส เจ้าของนามปากกา Dollarosaka ที่มาพร้อมผลงานสุดฮิต #กุเชอร์รี่ ในแพลตฟอร์มนิยายแชท Joylada แอปพลิเคชันอ่านนิยายที่ดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนา เป็นข้อความสั้นๆ โต้ตอบกันคล้ายกับการคุยแชท ที่ขึ้นอันดับ 1 ในเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกครั้งที่อัพตอนใหม่ เล่าว่างานเขียนแนวนี้ท้าทายกฎของนักเขียนสำหรับเธอมาก

          “งานหลักของเราจริงๆ คือเขียนบทภาพยนตร์ เขียนบทซีรีส์ แล้วคือ Joylada ท้าทายเรามาก เราบรรยายความรู้สึกไม่ได้ เราบรรยายสถานที่ไม่ได้ แต่เราต้องทำออกมาให้เป็นตัวหนังสือที่ให้คนอ่านเข้าใจทั้งหมดใน 3 พารากราฟ แต่คนอ่านจะต้องเข้าใจใน 10 บับเบิ้ลแล้วสร้างอารมณ์ได้ ก็สร้างได้จริงๆ แบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่า แค่เราอ่านแชทคำพูดของคนจะสร้างอารมณ์ได้เหมือนกับนิยายบรรยายที่เราเคยเขียนเป็นพารากราฟอย่างนั้นเลย พอได้ลองแล้วก็รู้สึกว่าท้าทายในกฎของนักเขียนเหมือนกัน   สำหรับเรา เวลาเขียนจะคิดว่าเขียนอย่างไรให้คนต้องอ่าน และต้องบอกต่อด้วย นั่นคือตัวของตัวเอง รู้สึกว่าเราต้องพัฒนาความคิดและมุมมองอยู่ตลอดเวลา จะต้องใหม่อยู่เสมอ แล้วก็จะต้องไม่ยึดแบบแผนของงานเขียนที่ผ่านมาว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นมาตรฐานตอนนี้ เพราะว่าสังคมเปลี่ยนไปทุกวัน เรารู้สึกว่าการที่เราได้เขียนอะไรออกไปในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าตรงนี้สำคัญที่สุดในการสื่อสารงานออกมาค่ะ”

 

ในมุมของกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดหลายสมัย โตมร ศุขปรีชา ก็บอกว่ามองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิธีการเขียนของแต่ละยุคสมัยที่น่าสนใจมากๆ ทั้งในสารคดีและวรรณกรรม ซึ่งเป็นความท้าทายของกรรมการอยู่เสมอ

       “ผมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลประเภทสารคดี แต่ละครั้งที่ต้องตัดสินก็จะมีหนังสือที่กรรมการต้องถามกันตลอดเวลาเลยว่าแบบนี้มันเป็นสารคดีหรือเปล่า งานใหม่ๆ เหล่านี้กลับมาท้าทายกฎเกณฑ์หรือความคุ้นเคยเดิมของกรรมการ ซึ่งบางคนในบางรางวัล ก็ยังถึงขั้นต้องคิดว่าเราต้องตั้งเกณฑ์ใหม่หรือเปล่า เราต้องคิดต้องมองโลกในแบบใหม่หรือเปล่า การที่เกิดงานแบบใหม่ๆ ขึ้นไม่ได้แค่ท้าทายคนผลิตงาน แต่ท้าทายทั้งระบบ ทั้งผู้อ่าน ทั้งคนผลิตงานด้วย และท้าทายไปถึงระบบคิดของเราด้วยว่าแบบไหนมันคืองานเขียนที่ดี หรือไม่ดี แล้วถ้าดีโดยที่ไม่มีรูปแบบเดิมๆ ดีเพราะอะไร ผมว่างานเขียนในสมัยใหม่มันมีความพิเศษที่ทำให้เราคาดไม่ถึงเต็มไปหมดเลย แล้วถ้าเกิดว่าไม่ด่วนตัดสินเสียก่อน จะทำให้เปิดโลกตัวเองเยอะมากว่ามีแบบนั้นมีแบบนี้ด้วย แพลตฟอร์มของสื่อแบบใหม่ๆ ก็ทำให้เกิดในรูปแบบของการคิดการเขียนแบบใหม่มาจากแพลตฟอร์ม ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนที่ไม่มีแพลตฟอร์มแบบนี้ คนอาจจะคิดออกมาไม่ได้ก็เป็นไปได้” โตมรกล่าว

        ปิดท้ายที่ นพ.ชัชพล หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ก็บอกว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายที่ท้าทายในทุกภาคส่วน รางวัลทางวรรณกรรมคือสิ่งจำเป็น และดีต่อวงการหนังสือมาก ทั้งการช่วยไกด์ผู้อ่านว่าควรอ่านเล่มไหน ช่วยสำนักพิมพ์ในแง่ยอดขาย ทั้งจากการคัดเลือกโดยห้องสมุดและการซื้ออ่านของบุคคล และที่สำคัญ คือการสร้างกำลังใจให้นักเขียน

       “ตอนที่หนังสือผมได้รับรางวัล ผมดีใจมากเหมือนกับว่ามีคนลองให้โอกาสกับหนังสือเล่มนี้ดู ถ้าไม่ได้รางวัลก็อาจจะเขียนแค่เล่ม 2 เล่มแล้วก็ออกจากวงการไป คล้ายๆ กับเป็นรางวัลทางใจว่ามีคนเห็นคุณค่าว่าสิ่งที่เราทำมันดี แล้วทำให้เราอยากทำต่อ ต่อให้สุดท้ายแล้วจะขายไม่ได้มาก ผมก็เชื่อว่าการที่ได้รับรางวัลช่วยให้เราอยากสร้างผลงานต่อไป”