สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ร่วมกับ สมาคมนักเรียนทุนชีฟนิ่งประเทศไทย และ RoLD 2020 จัดเสวนา RoLD Virtual Forum ผ่านเฟซบุ๊กเพจ หัวข้อ “ระบบยุติธรรมทางอาญาที่ตอบสนองต่อการคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย” (Effective and Integrated Criminal Justice Responses to Violence against Women in Thailand) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ด้านกฎหมาย ด้านสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน มาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันและหาทางออกของปัญหาความรุนแรงต่อสตรีด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย
งานเสวนาเริ่มด้วยการปาฐกถาโดย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวนำถึง ระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อสตรีด้วยเหตุแห่งเพศ ว่าเป็นงานที่
ท้าทายสัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมและด้านกฎหมาย ทำให้
การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปได้ไม่เต็มที่ ซึ่งบทบาทของทาง TIJ เน้นการให้ความรู้ และให้ความสำคัญ ทุ่มเทกับงานวิจัยและจัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อผลักดันประเด็นนี้มาโดยตลอด โดยหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น อิงแนวทางสากลและคำนึงถึงบริบทเฉพาะในสังคมไทย
“ปัญหาความรุนแรงต่อสตรี เป็นปัญหาที่ยากและท้าทาย ที่ผ่านมาสถาบัน TIJ เราได้พยายามสร้าง
องค์ความรู้ให้เราเข้าใจสิ่งนี้ดีขึ้นผ่านการทำงานร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ปัญหา
ความรุนแรงต่อสตรีเป็นประเด็นที่สหประชาชาติให้ความสำคัญมาตลอด และก็มีมาตรฐาน รวมถึง
บรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการดูแลแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสตรี มีการประชุมทบทวนทำให้เป็นปัจจุบัน การแก้ปัญหาอาจต้องดูทุกอย่าง ทั้งแนวปฏิบัติที่เป็นแนวทางสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะซึ่งเวลาที่มันเป็นมิติทางสังคม เชื่อว่ารายระเอียดที่เราจะได้เรียนรู้ในวันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้เราเข้าใจปัญหานี้ได้ชัดเจนขึ้น” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
ในช่วงเสวนาหัวข้อ “ระบบยุติธรรมทางอาญาที่ตอบสนองต่อการคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชื่อมโยงทัศนคติสังคมว่าด้วยผู้หญิงมีความเปราะบางด้านสรีระและ
ต้องพึ่งพิงผู้ชาย กลายมาเป็นจุดอ่อนของการถูกล่วงละเมิด และชี้ถึงจุดบกพร่องของกระบวนยุติธรรมแบบดั้งเดิมที่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศต้องเผชิญหนักหน่วง เหมือนถูกกระทำซ้ำ จากการที่ต้องผ่านกระบวนการแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ยินยอมให้มีการกระทำผิด
“เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นางสาวแดง (ยกตัวอย่าง) ถูกกระทำรุนแรงทางเพศจะต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ยินยอม ต้องไปเปิดหลักฐานให้ใครดูบ้าง ต้องไปเปิดคลิปนี้ให้กับใครดูบ้าง ไปถึงอัยการ อัยการถามคำถามแบบเดียวกัน เข้าถึงขบวนการในศาล ศาลก็ต้องถามแบบเดียวกัน และทนายก็ต้องมาซักค้านว่า อ้าว วันนั้นก็เห็นเธอยินยอมนี่นา แล้วเราจะแน่ใจได้แค่ไหนว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยที่อยู่ในกระดาษที่เป็นกฎหมายสวยงามนั้น คนปฏิบัติเขาเข้าใจ สิ่งที่จะชี้ให้เห็นทั้งหมด จริงๆมันมีอีกหลายประเด็นมาก ภาพของคลิปที่ยังอยู่บนอินเทอร์เน็ต นางสาวแดงจะขอเอาลงมา(จากการเผยแพร่)ได้ไหม เขาจะไปแจ้งใคร โรงพักทำให้ได้ไหม ถ้าโรงพักทำให้ไม่ได้ ไปหากระทรวงเทคโนโลยี เขาจะต้องวิ่งไปเอง ใครจะเป็นคนเข้ามาดูแลเขา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ประเด็นปัญหา
ขณะที่ นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยด้านความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง S-Hero กลุ่มรณรงค์ในเรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง กล่าวถึง
กรอบมายาคติทางเพศ ที่เป็นอุปสรรคของผู้หญิงในการขอความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมและ
การไม่ได้รับความเป็นธรรม
“อุปสรรคของผู้หญิงคนหนึ่งในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องเขารู้กฎหมายไหม บางทีเขา
รู้เข้าใจโครงสร้าง และรู้ว่ากฎหมายมีความท้าทายยังไง แต่เสียงของสังคมชุมชนที่ตีตราผู้ถูกกระทำ เสียงของครอบครัวที่ดิสคอเรจ (discourage หรือ บั่นทอนความกล้า) หรือทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำไม่กล้าฟ้องผู้กระทำ โดยย้ำว่า อย่าไปฟ้องเขาเลย สงสารเขา อย่าไปทำให้เขาเสียอนาคตเลย แล้วก็เป็นเสียงของเพื่อนที่บอกว่า แกไปทำอะไรเขาละ ไปทำอะไรมาถึงโดนกระทำแบบนั้น” นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าว
ในวงเสวนากล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหายโดยยึดหลัก ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (survivor-centred approach) จากมิติด้านสาธารณสุขที่มุ่งประเด็นเยียวยาความบอบช้ำทางจิตใจของผู้ถูกกระทำความรุนแรง อาจเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันการถูกกระทำซ้ำจากกระบวนการยุติธรรมและเป็นการเปิดทางเลือกและ
คืนอำนาจให้กับผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริง โดยอาศัยช่องทางของกฎหมายไทยที่เปิดให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาได้เอง แม้ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องทุนทรัพย์และความรู้ แต่หากมีการพัฒนาต่อยอดจาก
ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ของผู้เสียหาย น่าจะมีส่วนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สิทธิ์ผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญาได้เอง แต่เราใช้สิทธิน้อยมากเพราะผู้เสียหายมีกำลังทรัพย์น้อย มีทรัพยากรน้อยในการที่จะเข้าถึง เพราะจะต้องจ้างทนาย ต้องรวบรวมพยานหลักฐานอะไรต่ออะไรเอง มันลำบาก แต่เป็นไปได้ไหมว่าเราจะใช้ช่องทางนี้ในการที่จะเพิ่มสิทธิ์ เพิ่มกำลัง เพิ่มพาวเวอร์ผู้เสียหายที่จะใช้ผ่านกระบวนการนี้ ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีอาญาได้เอง โดยเฉพาะคดีที่หลักฐานทั้งหมดมันเป็นหลักฐานที่อยู่กับตัวเขาเอง” นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ และผู้ก่อตั้ง
S-Hero ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าว
งานเสวนาครั้งนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วม นำโดย ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร นายกสมาคมนักเรียนทุนชีฟนิ่งประเทศไทย นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
นางสันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานอัยการ คดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้อำนวยการสำนักงาน เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์, นางสาวกรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women, ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม, นางวรภัทร แสงแก้ว นักจิตวิทยาและหัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์และศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข โดยมี ร้อยตรี ปารเมศ บุญญานันต์ นิติกรชำนาญการ กระทรวงยุติธรรม และนางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ผู้สนใจสามารถติดตามชมบันทึกการประชุมเสวนาย้อนหลังออนไลน์ได้ทาง เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/tijthailand.org/videos/1331738437208784/