กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับศาลแรงงานกลางเดินหน้าโครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” ช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันนี้ - 16 ก.ย. 64
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเกิดคดีแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จึงมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประสานกับศาลแรงงานกลางจัดโครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่”ต่อเนื่องขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อให้บริการสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงสิทธิหน้าที่สวัสดิการของนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ในรูปแบบของศูนย์บริการด้านกฎหมายเคลื่อนที่ โดยจะให้บริการไกล่เกลี่ย การรับคำฟ้องแก่นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และลดการเดินทางมายังศาลของประชาชน ซึ่งเปิดให้บริการครั้งแรก ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (เขตดินแดง) ในวันที่ 25 มีนาคม 2564 จากนั้นจะเคลื่อนที่ไปจัด ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 เมษายน พื้นที่ 3 (เขตประเวศ) ครั้งที่ 3 วันที่ 20 พฤษภาคม พื้นที่ 9 (เขตจตุจักร) ครั้งที่ 4 วันที่ 17 มิถุนายน พื้นที่ 6 (เขตคลองสาน) และ พื้นที่ 7 (เขตตลิ่งชัน) ครั้งที่ 5 วันที่ 22 กรกฎาคม พื้นที่ 4 (เขตคันนายาว) และพื้นที่ 10 (เขตมีนบุรี) ครั้งที่ 6 วันที่ 19 สิงหาคม พื้นที่ 1 (เขตสาทร) และ พื้นที่ 8 (เขตพระนคร) และครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 กันยายน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 (เขตราษฎร์บูรณะ) รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง
อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนายจ้าง ลูกจ้างที่มีข้อสงสัย หรือต้องการความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านแรงงาน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องนำมาซึ่งความร่วมมือ ร่วมใจให้ผ่านพ้นวิกฤติของโรคโควิด-19 ไปได้ด้วยดี จึงขอเชิญชวนผู้สนใจใช้บริการ โครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” ได้ตามสถานที่ข้างต้นตามที่สะดวก ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 7589 หรือสายด่วน 1506 กด 3