กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างแรงงานคุณภาพ หนุนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ลดช่องว่างตลาดแรงงาน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มูลนิธิขาเทียม
ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กำเนิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ที่ทรงอาทรถึงความทุกข์ของคนพิการขาขาดผู้ยากไร้ และที่ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมจากภาครัฐ พระองค์เสด็จ
พระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนขาเทียมในกลุ่มคนพิการขาขาดที่ยากไร้ เมื่อทรงทราบว่าแพทย์ไทยสามารถประดิษฐ์ขาเทียมได้
จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือนับแต่นั้นมา “อย่าไปเอาเงินที่เขา มาเอาที่ฉัน” รับสั่งประโยคนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทรา
บรมราชชนนี กลายเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิขาเทียมฯ และได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่พัฒนาเทคโนโลยีการทำขาเทียมตลอดเวลา ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจพัฒนากำลังแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ ทั้งฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกิจการของมูลนิธิขาเทียมฯ โดยดำเนินโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ และจัดการฝึกอบรมสาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ รวมถึง
การกำหนดและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม
จัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 700 ชั่วโมง (5 เดือน)
ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 (5 รุ่น) จำนวน 109 คน และมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 จำนวน 106 คน ระดับ 2 จำนวน 21 คน รวมจำนวน 127 คน และในปี 2564 ดำเนินการฝึก 6 กิจกรรม เป้าหมาย 210 คน หลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียมจะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชน
ทั่วประเทศ และ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งพนักงานราชการ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด แล้วทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคง
ซึ่ง กพร.จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐาน
และพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และช่างเหล่านี้สามารถจัดทำขาเทียมที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานมีผู้พิการ
ขาขาดที่ได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ ปีละกว่า 3,000 คน
รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมฯ กล่าวว่า ในนามของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณ กพร.ที่ได้ให้
การสนับสนุนเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด พัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วย
คนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างบุคลากรด้านเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงอบรมแพทย์และช่างทำขาเทียมชาวต่างประเทศ
ที่มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น เมียนมาร์ มาเลเชีย บังคลาเทศ สามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทั่วโลก
เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาศักยภาพแรงงาน
ที่เห็นเป็นรูปธรรม
นายโรมรัน จรรยา พนักงานช่างเครื่องช่วยคนพิการ เป็นพนักงานราชการของโรงพยาบาลลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ช่างเครื่องช่วยคนพิการ รุ่นที่ 8 กับ สพร.19 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม และได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขแบบปุถุชนทั่วไปได้
คนพิการเป็นอีกกำลังแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือ และเมื่อแรงงานมีฝีมือก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่างทำขาเทียมซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้แก่คนพิการได้กลับมาทำงาน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคฒ อธิบดี กพร.กล่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไทย
PR.News Thailand