วันที่ 24 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ มอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม พร้อมตรวจเยี่ยมการฝึกภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ณ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ถนนศรีนครินทร์ เขตบางนา กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มามอบวุฒิบัตร ให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตร การขนส่งทางทะเลและทางอากาศ ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพราะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมและธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบ ในทางกลับกันธุรกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ มีทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยปัจจัยของการปรับตัวแบบวิถีใหม่ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งเติบโตขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ สินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดยังจำเป็นต้องใช้ ทำให้การขนส่งและโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าวน้อยมาก และนั่นหมายถึงแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมย่อมได้รับผลกระทบน้อยมากเช่นกัน ดังนั้นความต้องการแรงงานจึงมีอย่างต่อเนื่อง
รมช.แรงงาน กล่าวต่อ ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ จึงจำเป็นและมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการ และต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้มีศักยภาพสูง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโลจิสติกส์ในรูปแบบใหม่ ต้องขอขอบคุณนายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ที่ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น อันจะส่งผลถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมของประเทศ และขอขอบคุณหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดฝึกอบรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยสร้างและพัฒนาแรงงานคุณภาพในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ อย่างแท้จริง ขอให้ผู้สำเร็จการฝึกอบรมได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ ไปปรับใช้ในการทำงาน และเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
หลังจากนั้น รมช.แรงงาน ได้มอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรม การขนส่งทางทะเลและทางอากาศ จำนวน 50 คน ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้ เป็นบุคลากรในธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี ระยะเวลาฝึก 60 ชั่วโมง เพื่อยกระดับทักษะให้มีศักยภาพสูง และเยี่ยมชมการอบรมหลักสูตร ธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ผู้เข้าอบรมเป็นนักศึกษาจบใหม่ ระดับ ป.ตรี ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมจำนวน 50 คน ใช้ระยะเวลาการอบรม 240 ชั่วโมง เมื่อฝึกจบแล้ว จะมีสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคม รับเข้าทำงานทันที อัตราค่าจ้างตั้งแต่ 15,000/เดือน
นางสาวจิราภรณ์ ปุญญฤทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีความร่วมมือกับ TIFFA ในการพัฒนาฝีมือแรงงานสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ผลิตแรงงานและพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์แล้วเกือบ 2,000 คน นอกจากนี้ ยังร่วมกันกำหนดและร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ จัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ วิทยากรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย