นฤมล เดินสายขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือ  การฝึกต้องเข้มข้น รองรับเทคโนโลยี 4.0 ดิจิทัลและภาษาจำเป็นต้องมี  ย้ำ! เดินตามแนวทาง สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ขานรับนโยบายรัฐบาล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 
 
          วันที่ 17 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี  เยี่ยมชมการฝึกอบรม  ตามโครงการศูนย์ฝึกอบรมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชั้นสูง สาขา การควบคุมด้วยระบบนิวแมติกส์ไฟฟ้าในงานอุตสาหกรรม การออกแบบติดตั้งและประยุกต์ใช้งานโซลาร์เซลล์ เยี่ยมชมกิจกรรมการให้บริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน  ชมการสาธิตอาชีพในยุค Thailand 4.0 ประกอบด้วย การให้บริการบนอินเทอร์เน็ตและการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ การฝึกอบรมส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ ผลิตภัณฑ์ปูนปั้นไม้เทียมเพื่องานประดับ การฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุ การประกอบอาหารไทย และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  โดยกลุ่มแม่บ้านหัวสระพัฒนานำผลิตภัณฑ์มะนาวดองน้ำผึ้ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมแพะ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแพะก้าวหน้าราชบุรี  เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังจากนั้น ได้พบปะพูดคุยกับอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและกลุ่มแรงงานที่มาคอยต้อนรับ กว่า 100 คน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 4 ราชบุรี

          รมช.แรงงาน กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดราชบุรีในครั้งนี้ ต้องการตรวจเยี่ยมการให้บริการของภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งมีหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ  ซึ่งตนเองได้รับมอบหมายจากรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กพร. ตามแนวคิด สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องการให้แรงงานไทย เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง สร้างแรงงานคุณภาพ ยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล และได้รับอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม พร้อมกับให้โอกาสแรงงานกลุ่มเปราะบางเข้าถึงบริการของรัฐ จึงได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ  ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงาน มีอาชีพและรายได้ดูแลครอบครัว หลักสูตรต้องรองรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและภาษา ที่จำเป็นต่อทุกภาคอุตสาหกรรม การฝึกอบรมต้องสอดแทรกให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ และการประยุกต์ใช้ด้วย ปรับการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ และเรียนรู้เกี่ยวกับระบบออนไลน์ เช่น การขายสินค้าออนไลน์  การผลิตสื่อมีเดียเพื่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์
?        รมช. แรงงาน กล่าวต่อว่า หลักสูตรที่ดำเนินการนั้น มีความหลายหลาย เพื่อยืดหยุ่นให้เหมาะกับแรงงาน และปรับตามสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา การประชาสัมพันธ์ภารกิจเหล่านี้ ต้องอาศัยการบอกเล่าจากผู้ใกล้ชิดแรงงานที่อยู่ในชุมชน ซึ่งกระทรวงแรงงาน มีอาสาสมัครแรงงาน คอยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาครัฐในการแจ้งข่าวสารการให้บริการไปยังประชาชนในชุมชน และนำความต้องการของชุมชนไปแจ้งให้หน่วยงานรัฐดำเนินการให้ความช่วยเหลือ จึงจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และขอฝากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังเยาวชนที่สนใจด้านการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบัน มีความต้องการแรงงานด้านดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งในวันนี้มูลนิธิกล้วยน้ำไท ได้มาร่วมประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้สนใจเข้าอบรม โดยมีทุนการศึกษาระหว่างที่อบรมด้วย

          “ขอเป็นกำลังใจให้อาสาสมัครแรงงานทุกท่าน ที่สละเวลาและทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ฝากแจ้งข่าวสารต่างๆ ของภาครัฐไปยังประชาชนในชุมชนด้วย ซึ่งรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือและจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ประชาชน อย่างครบวงจร ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันที่ไม่สามารถทำงานได้ ขอให้ทุกคนมั่นใจ ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด