นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยถึงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้กำหนดให้กรมวิทยาศาสตร์บริการมีภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางวิทยาศาสตร์โดยดำเนินการกำกับดูแล ส่งเสริม วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นสถานปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ วศ.มีอำนาจหน้าที่สำคัญ ดังนี้
1.พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการ โดยการส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ด้านฟิสิกส์ และด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
สำหรับโครงสร้างการบริหารของ วศ. ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบด้วยส่วนราชการและโครงการสำคัญๆ ได้แก่ กลุ่มตรวจสอบภายใน โครงการเคมี โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักงานเลขานุการกรม กองเทคโนโลยีชุมชน กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ และกองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก้าวต่อไปของ วศ. คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากระบบราชการไปสู่องค์การมหาชนตาม Road map ที่วางไว้ในปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านบริการทางวิทยาศาสตร์เป็นรูปธรรมและมีความเป็นสากลสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้อย่างมีคุณภาพ โดยขณะนี้ วศ. มีการปรับโครงสร้างภายในโดยจัดตั้งกองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ (พธ.) เป็นการนำร่องหรือทดลองการพัฒนากระบวนการทำงานในรูปแบบ Agile Management ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง มุ่งเน้นทีมคุณภาพให้มากขึ้นเพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตและบริการ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการของ วศ. เพื่อไปสู่องค์การมหาชน จะดำเนินการโดยร่วมมือกับทีมที่ปรึกษาจากบริษัท PacRim Group ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรของประเทศ เพื่อร่วมกันกำหนดภาพอนาคตของ วศ. ให้เป็นองค์กรบริการทางวิทยาศาสตร์ของประเทศที่ยั่งยืน