กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แนะแรงงานเก่า-ใหม่ เมื่อวัดทักษะฝีมือแล้วทุกฝ่าย
ได้ประโยชน์นายจ้างได้แรงงานคุณภาพ แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และเป็นธรรม
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายพัฒนากำลังแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน และมอบหมายให้ กพร.ใช้ภารกิจด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลไกในการขับเคลื่อน
ในทุกกลุ่มแรงงานรวมถึงแรงงานใหม่ที่เป็นนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี เพื่อมีทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ
และที่สำคัญเป็นองค์ประกอบในการขอรับการประเมินความรู้ความสามารถซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศสร้างความมั่นคงทางอาชีพ และความปลอดภัยสาธารณะ
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปี 2564 ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด กพร. ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) จัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน กว่า 200 สาขา ทั้งในกรุงเทพมหานครและอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะการทดสอบฯ ในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก
และช่างเชื่อมทิกซึ่งเป็นสาขาที่ถูกกำหนดให้ผู้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานด้านไฟฟ้าต้องเป็นผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ซึ่งบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินดังกล่าวได้ต้องผ่านการทดสอบฯ ก่อนเป็นอันดับแรก
ซึ่งแรงงานที่จะเข้ารับการทดสอบจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีประสบการณ์ทำงานหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่จะทดสอบ หรือผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับ ปวช.ในสาขาที่เกี่ยวข้อง
การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบกิจการ คือ สามารถคัดเลือกแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ และทัศนคติได้ตรงตามความต้องการ ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ และความเสียหายอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากการทำงานและในส่วนของแรงงานเอง เมื่อผ่านการทดสอบจะทราบระดับฝีมือและข้อบกพร่องของตนเองเพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการวางแผนพัฒนาทักษะฝีมือตนเองตามความสามารถของตำแหน่งงานที่จะเลื่อนระดับขึ้นได้ และที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสการมีงานทำและได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่ประกาศโดยกระทรวงแรงงาน จึงขอเชิญชวนผู้สนใจทั้งแรงงานใหม่ และแรงงาน
ที่ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพต่างๆเข้ารับการทดสอบฯ ได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.dsd.go.th. เมนูกำหนดการเปิดทดสอบฝีมือแรงงาน หรือสอบถามได้ที่ 0 2245 4837, 0 2245 1707 ต่อ 718 หรือสายด่วน 1506 กด 4” อธิบดีกพร.กล่าว