รองนายกรัฐมนตรี “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประชุมคณะกรรมการ กพร.ปช. ครั้งที่ 3 กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบิน พร้อมพิจารณาร่างคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 คณะ หวังให้แรงงานทุกกลุ่มได้รับการพัฒนาทักษะฝีมืออย่างเท่าเทียม พร้อมย้ำ! ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
          วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 3 โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบิน  พร้อมทบทวนมติที่ประชุมของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 2  ในประเด็นการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.)  การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพและคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 4 คณะ
          พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การดำเนินงานของ กพร.ปช. สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตรวมถึงการพัฒนาประเทศ โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนากำลังคนในทุกมิติตามวัตถุประสงค์นั้น ต้องอาศัยกลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนากำลังคน โดยที่ประชุมครั้งก่อน มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 4 คณะ จึงได้เชิญกรรมการทุกท่านเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด
         ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เสนอแผนพัฒนากำลังคนอีก 1 กลุ่มคือการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบิน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เนื่องจากระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากภูมิภาคอื่นสู่ภูมิภาคเอเชียและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบด้านสถานที่ตั้งและด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนจุดแข็งภายในประเทศ อาทิ สินค้าการเกษตร เช่น ยางพารา และข้าว เป็นต้น ที่สร้างมูลค่าการส่งออกสูง การส่งออกรถยนต์  เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ และทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งต้องอาศัยระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นับเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะใช้ความได้เปรียบดังกล่าว ดังนั้น การพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญและจำเป็นที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป
         “การประชุมครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ  ส่งเสริมให้แรงงานไทยมีศักยภาพและทักษะอาชีพสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น   และการดำเนินงานของ กพร.ปช. จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาแรงงานให้เกิดผลสำเร็จ จึงขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน เช่นนี้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน” พลเอก ประวิตร กล่าวในท้ายสุด