รมช.แรงงาน ชูผลงาน กพร. ผู้ผ่านการฝึกมีงานทำกว่าร้อยละ 70 ก้าวสู่ผู้ประกอบการ และประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ปีละกว่า 4 แสนบาท ขับเคลื่อนภารกิจต่อเนื่อง ฝึกทักษะ ยกระดับมาตรฐานฝีมือรับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามแบบประชารัฐ ย้ำ! สโลแกน “ฝึกฟรี มีงานทำ”
วันที่ 6 มกราคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นอีกหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานไทยมีงานทำ จากผลงานการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ปีละกว่า 4 ล้านคน มีการติดตามการมีงานทำจากกลุ่มผู้ผ่านการฝึกอบรมที่เป็นแรงงานนอกระบบ พบว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมีงานทำร้อยละ 70 และมีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 4 แสนบาท ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากเป็นกลุ่มผู้ที่ว่างงาน หรือเป็นแรงงานกลุ่มเปราะบาง เมื่อมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ความสามารถที่สูงขึ้น จะมีโอกาสในการสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ ช่วยให้แรงงานเหล่านี้มีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ท้ายที่สุดคือการก้าวผ่านเส้นความยากจนไปได้ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า กพร. นำเสนอผู้ผ่านการอบรมที่ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างบางส่วนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่กำลังมองหางานทำ และยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร รัฐบาลมีหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ได้ จึงขอเชิญชวนให้เข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีหน่วยงานตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานก็สามารถเลือกหลักสูตรที่มีการฝึกยาวประมาณ 2-4 เดือน ผู้ที่มีความรู้บ้างแล้ว ก็ฝึกยกระดับฝีมือ หรือผู้ที่ทำงานแล้ว แต่ต้องการวัดระดับทักษะฝีมือ สามารถเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐาน แรงงานจะได้รับโอกาสปรับอัตราค่าจ้าง การันตีรายได้ที่ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งมีกำหนดไว้ถึง 83 สาขาอาชีพและอัตราค่าจ้างนี้ สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย
นายพรหมพรรค คณะรัตน์ ผ่านการฝึกอบรมช่างประกอบโครงอลูมิเนียม (560 ชั่วโมง) จากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพัทลุง (สนพ.พัทลุง) เมื่อปี 2548 ปัจจุบัน เป็นเจ้าของกิจการ รับทำเหล็กดัด ประตู หน้าต่าง และงานอลูมิเนียม มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท
นายธวัชชัย ขนาด (ช่างโจ้) ผ่านการฝึกอบรมยกระดับฝีมือ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก จาก สนพ.บึงกาฬ ปัจจุบัน เปิดร้านจำหน่าย ติดตั้ง ซ่อมล้างแอร์บ้าน/สำนักงาน/คอนโดและรีสอร์ท เคยเป็นพนักงานบริษัท ทำงานด้านช่างไฟฟ้า ต่อมาบริษัทลดพนักงาน ตนจึงตกงาน กลับมาหางานทำที่บ้าน จึงมีเพื่อนแนะนำให้มาฝึกอบรมช่างเครื่องปรับอากาศ ด้วยตนเองมีพื้นฐานด้านช่างไฟฟ้าอยู่บ้างแล้ว จึงเลือกสมัครฝึกยกระดับฝีมือ ระยะเวลาฝึกเพียง 30 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ช่างเครื่องปรับอากาศฯ เพื่อการันตีฝีมืออีกด้วย “ดีใจที่ได้ทำงานอยู่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว และมีรายได้เพียงพอสำหรับดูแลคนในครอบครัว รายได้ประมาณวันละ 2,000-3,000 บาท” ธวัชชัยกล่าว
นายไพทูรย์ ศรีนนทวรนัน เล่าว่า ผ่านการฝึกอบรมเตรียมเข้าทำงาน การบำรุงรักษาระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและหัวฉีดในรถจักรยานยนต์ จาก สนพ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาฝึกอบรม 6 เดือน เคยเป็นไต้ก๋งเรือใช้ชีวิตอยู่กับทะเล ดูแล้วไม่มั่นคง จึงตัดสินใจลาออกแล้วกลับมาทำงานที่บ้าน เข้าฝึกอบรมเพราะต้องการหาความรู้เพิ่ม หลังจากฝึกจบ ลงทุนเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีลูกค้า เนื่องจากแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ยังไม่ชำนาญ ลูกค้าจึงมาใช้บริการน้อย ต้องค่อยๆ ศึกษาและแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะมั่นคงได้ถึงทุกวันนี้ จึงอยากบอกน้องๆ ว่า การทำงานช่วงเริ่มต้นจะลำบากหน่อย ให้อดทน ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ รวมถึงการเรียนรู้ตลอดเวลาจะช่วยเปิดให้เรามองเห็นโอกาสมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 40,000 บาท
นายดุสิต พรมศิริ ผ่านการฝึกอบรมยกระดับฝีมือ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เมื่อปี 2560 และช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก เมื่อปี 2563 จาก สนพ.ศรีสะเกษ และเข้ารับทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ เล่าว่า ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ไม่เคยเข้าอบรมหรือทดสอบมาตรฐาน ทราบข่าวจากการประกาศข่าวด่วน ว่าคนที่ทำอาชีพช่างไฟฟ้าต้องมีใบรับรอง จึงจะสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย จึงไปสมัครฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐาน เมื่อผ่านการอบรมและได้ใบรับรองความรู้ความสามารถช่างไฟฟ้ามาแล้ว ทำให้รู้วิธีการทำงานที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีใบการันตีความสามารถ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น ปัจจุบัน รับเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รับติดตั้ง/ล้าง/ซ่อมแอร์ พันมอเตอร์ปั้มน้ำ/พัดลม และรับติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ด้วย จึงมีลูกค้ามากขึ้นและมีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000 บาท
นายพศวัต พานรอต ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ช่างไฟฟ้า และได้รับใบรับรองความรู้ความสามารถแล้ว จาก สนพ.อ่างทอง ปัจจุบัน รับเหมางานด้านการติดตั้ง ซ่อมแซมระบบไฟฟ้า มีรายได้เฉลี่ย 7,000-8,000 บาทต่อครั้ง
“ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีผู้ที่ผ่านการอบรมและนำความรู้ไปประกอบอาชีพอีกมาก ไม่สามารถนำมากล่าวได้หมด แต่ต้องการบอกให้แรงงานทุกคนได้รับรู้ว่า เมื่อเราเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ทันต่อเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ต่างๆ เป็นการสร้างโอกาสให้กับตนเอง จะมีชีวิตที่ดีและมั่นคง สามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ การทำงานแบบ New Normal ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ” รมช.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย